“บิ๊กตู่” ยืนยันชำระหนี้สาธารณะไปแล้วมากกว่า 2.6 ล้านล้าน ตั้งแต่ปี 57 ถึงปัจจุบัน

329
0
Share:
“บิ๊กตู่” ประยุทธ์ ยืนยันชำระ หนี้สาธารณะ ไปแล้วมากกว่า 2.6 ล้านล้าน ตั้งแต่ปี 57 ถึงปัจจุบัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (30 พ.ค. 66) ได้ติดตามรายงานการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศที่ถือว่าเป็นตัวชี้วัดสำคัญ สะท้อนความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจไทย และสร้างความเชื่อมั่นในสายตาชาวโลก สรุปได้ดังนี้

1. หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ 31 มี.ค. 66 ประมาณ 10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.30% ของ GDP ซึ่งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง คือ 70% ของ GDP โดยที่มาของหนี้สาธารณะ เกิดจาก
– หนี้ที่รับช่วงมาจากรัฐบาลในอดีต
– หนี้ที่มาจากการกู้เงินเพื่อใช้ในการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ เช่น การคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค พลังงาน การศึกษา และที่อยู่อาศัย คิดเป็น 75% ของเงินกู้

ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดทั่วโลก เราจำเป็นต้องกู้เงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขสำหรับการควบคุมโรค ดูแลรักษาช่วยเหลือประชาชนและทุกภาคส่วน ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร่งด่วน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. ภาระหนี้ของรัฐบาลกว่า 98% เป็นหนี้ในประเทศ ที่เหลือเพียงส่วนน้อยมากเป็นหนี้ต่างประเทศ จึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ 88.6% เป็นหนี้ระยะยาว และ 11.4% เป็นหนี้ระยะสั้น ทำให้เรามีความคล่องตัว-ไม่กดดัน ในการบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. รัฐบาลมีแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
– การชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนด (Pre-funding) ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเหมาะสม
– การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดการกระจุกตัวของภาระหนี้ ยืดอายุหนี้ และลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย
– ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง ก็ได้ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยของหนี้สาธารณะ
– ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ก็ได้แปลงหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว ให้เป็นดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่า ปัจจุบัน 85% เป็นหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยคงที่
– การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเร่งชำระหนี้ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการชำระหนี้สาธารณะไปแล้วมากกว่า 2.6 ล้านล้านบาท นับเป็นยอดชำระหนี้มากที่สุด เมื่อเทียบกับรัฐบาลในอดีตที่ผ่านๆ มา

การเร่งรัดสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการสร้างงาน-สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น เก็บภาษีได้สูงขึ้นในทุกกิจกรรม และเกิดการพัฒนาต่อยอดขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งสามารถนำมาชำระหนี้ได้มากขึ้นด้วย

“จากการมุ่งสร้างความเจริญก้าวหน้า การลงทุนเพื่ออนาคต การฝ่ามหาวิกฤติโลก และการบริหารหนี้สาธารณะ ที่เป็นไปอย่างเคร่งครัด ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ส่งผลให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อระดับสากล ยังคงอันดับความน่าเชื่อของประเทศไทยที่ BBB+ มาอย่างต่อเนื่อง และมุมมองความน่าเชื่อถือมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยเชื่อมั่นว่าภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของประเทศไทย ยังคงแข็งแกร่ง อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และสามารถรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดของโลกในอนาคตได้”