บีทีเอสร้ององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น สอบปมเปลี่ยนทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

638
0
Share:

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อยื่นหนังสือให้ติดตามการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินรวมงานอาณัติสัญญาณ 142,789 ล้านบาท หลังจากมีการ เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ร่วมลงทุนใหม่โดยมีนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นผู้รับหนังสือ
.
โดยประเด็นนี้ BTSC ดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองไปเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ผ่านการคัดเลือก กลับไปใช้หลักเกณฑ์ด้านราคาตามเดิม ซึ่งอยู่ระหว่างรอศาลนัดหมายไต่สวนตามกระบวนการกฎหมาย คาดว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาก่อนวันกำหนดยื่นซองประมูล คือวันที่ 6 พ.ย.นี้ และ BTSC มองว่าหลักเกณฑ์ตัดสินที่ราคาเป็นหลักเกณฑ์ที่มีความโปร่งใสอยู่แล้ว
.
การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาแบ่งเป็นด้านการเงิน 70% และเทคนิค 30% ก็มีความไม่ชอบมาพากล เพราะเมื่อวิเคราะห์ในเนื้อหาทีโออาร์แล้ว เป็นการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการมาตรา 36 มากเกินไป แถมการเปลี่ยนหลักเกณฑ์เกิดขึ้นภายหลังจากการซื้อซองทีโออาร์ จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียปรียบกันมากขึ้น
.
นอกจากนี้หลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงพบว่า สัดส่วนการตัดสินด้านการเงิน 70% มีการแบ่งการให้คะแนนเป็นราคาที่ดีที่สุด 60% และราคาที่สมเหตุสมผลอีก 10% ซึ่งการใช้คำว่าสมเหตุสมผล ไม่ทราบว่าคณะกรรมการตามมาตรา 36 จะใช้หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณาว่าราคาใดสมเหตุสมผลหรือไม่ แต่ในฐานะผู้ยื่นข้อเสนอไม่มีรายละเอียดตรงนี้เลย และโครงการอื่นก็ไม่มีเกณฑ์การพิจารณาในส่วนนี้
.
ส่วนการนำหลักเกณฑ์ด้านเทคนิคเข้ามาเพิ่ม 30% นั้น มีการกำหนดเรื่องของการมีประสบการณ์เพิ่มว่า ต้องเคยก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้า ซึ่งมี 3 บริษัทที่มีประสบการณ์โดยหนึ่งในนั้นมี บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ที่มีประสบการณ์ แต่ภายหลังทราบมาว่ามีการพูดกันว่า ต้องเคยทำอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ทำให้เหลือเพียง 2 บริษัทเท่านั้น ที่เคยมีประสบการณ์ทางอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้การหาพันธมิตรที่มีประสบการณ์เป็นไปได้ยาก เพราะตามทีโออาร์ให้หาพันธมิตรเฉพาะผู้ที่ยื่นซองทีโออาร์เท่านั้น
.
ส่วนที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อ้างว่าการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นสิทธิ์ของคณะกรรมการตามมาตรา 36 เท่าที่ตรวจสอบตามทีโออาร์พบว่าในข้อ 35.2 การจะสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียด รวมถึงการลดหรือขยายเวลาการคัดเลือกตามเอกสารแนะนำของผู้ยื่นข้อเสนอ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของ รฟม. และมติคณะรัฐมนตรี จึงสงสัยว่า การเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องมีการเสนอ ครม.ก่อนหรือไม่