บีอีเอ็ม-ช.การช่าง ยืนยันชนะประมูลสายสีส้มตามกติกา พร้อมรับข้อเสนอ ตรึงค่าโดยสาร

397
0
Share:

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานปฏิบัติการ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ ซีเค เปิดเผยว่า ในการร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร (กม.) นั้น ยืนยันว่าบริษัทฯ ทำตามกฎกติกาการแข่งขัน

ซึ่งกติกาที่รัฐบาทกำหนดในการเข้ามาประมูล พบว่ากติกาที่กำหนดเป็นกติกาปกติ โดยระบุว่าผู้ชนะต้องสร้าง และให้บริการเดินรถ โดยให้ผู้ร่วมประมูลเสนอว่าค่าก่อสร้างขอสนับสนุนเท่าไหร่ ส่วนการเดินรถก็ต้องมาดูว่าผู้ชนะสามารถแบกรับภาระไดเท่าไหร่ ส่วนวิธีการสร้างจะใช้วิธีใดก็ให้ผู้ประมูลเสนอมา ซึ่งในส่วนของเงื่อนไขในการประมูล (ทีโออาร์) ที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดไม่มีความผิดปกติ ใจความสำคัญคือให้หาผู้เดินรถ หรือโอเปอร์เรเตอร์ ซึ่งเปิดกว้างให้หลายที่ทั่วโลก ส่วนผู้ก่อสร้าง ก็กำหนดให้หาผู้ก่อสร้างมาร่วมกับผู้เดินรถ ซึ่งคุณสมบัติต้องมีผลงานการก่อสร้างสถานีทั้งใต้ดิน ลอยฟ้า การขุดเจาะอุโมงใต้ดินที่ไม่ใช่เพียงอุโมงรถไฟฟ้า และการก่อสร้างรางรถไฟ

ดังนั้น ผู้ที่จะยื่นประมูลต้องมีคุณสมบัติตามนี้ ซึ่งในทีโออาร์ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นเอกชนรายเดียวที่มีคุณสมบัติครบตามที่กล่าวมาจึงจะสามารถเข้าร่วมการประมูลได้ ซึ่งในส่วนของ ช.การช่าง ยอมรับว่าเราทำได้ครบตามคุณสมบัติเพราะเราดำเนินธุรกิจมากว่า 40 ปี จึงเป็นเหตุผลที่ช.การช่าง ร่วมกับบีอีเอ็มแค่รายเดียว แต่สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

ส่วนสิ่งที่บริษัทฯ มีการเสนอขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาล คือในส่วนของค่าก่อสร้างประมาณ 9 หมื่นล้านบาท และมีการเสนอส่วนแบ่งรายได้ค่าเดินรถให้รัฐบาล 1 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อต่อรองราคาแล้วลดลงอยู่ที่ 7.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากคาดการณ์ว่าในช่วงแรกของการเปิดให้บริการสายสีส้ม จะมีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 2 แสนคนต่อวัน ซึ่งเมื่อมาดูรายได้ของภาคเอกชนจึงแทบไม่เหลือ เมื่อผลการประมูลออกมา บริษัทฯ เป็นผู้ชนะ รัฐบาลจึงได้เรียกไปเจรจาต่อรอง ว่ารัฐบาลไม่สามารถสนับสนุนเงินเพิ่มให้ได้แล้ว รวมถึงทางบริษัทฯ ก็ไม่สามารถปรับลดค่าก่อสร้างให้ได้แล้ว

เนื่องจากเป็นราคาที่ประเมินมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งราคาในปีนั้น ค่าเหล็กอยู่ที่ 16-17 บาท ขึ้นไปที่ 27-28 บาท และปัจจุบันอยู่ที่ 23-24 บาท รวมถึงปัจจุบันมีการปรับขึ้นค่าแรงงาน หากจะให้บริษัทฯ ปรับลดราคาค่าก่อสร้างลงคงไม่สามารถทำได้ ทางภาครัฐจึงได้มีการเจรจาเพิ่มเติม 2 ประเด็น คือ

1.เรื่องอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีการกำหนดไว้แล้วว่าการประมูลในลักษณะนี้ราคาต้องอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ซึ่งต้องอ้างอิงตามราคาเงินเฟ้อในปีที่เปิดให้บริการ ซึ่งรัฐบาลเสนอขอให้บริษัทฯ ตรึงราคาค่าโดยสาร 10 ปีแรก ในเทียบเท่ากับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน หรือเริ่มต้นที่ 17-42 บาท หลังจากนั้นจะกลับไปใช้ราคาเดิมที่มีการกำหนดอยู่ในสัญญา เริ่มต้นที่ 20 บาท และสูงสุดประมาณ 50 บาท ซึ่งเชื่อว่าเมื่อถึงตอนนั้นทางภาครัฐจะมีการเจรจาตามความเหมาะสมอีกครั้งต่อไป

2.ขอให้บีอีเอ็ม เข้ามารับภาระค่าดูแลรักษา (Care of Work) ส่วนตะวันออกที่กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ภายหลังจากที่ รฟม. ตรวจรับมอบงานก่อสร้างส่วนตะวันออก และส่งมอบพื้นที่ให้กับ บีอีเอ็ม ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งบีอีเอ็มยินดีรับทั้ง 2 ข้อตกลง ดังนั้นการที่บอกว่าขอเยอะไป ทำให้รัฐเสียหายเยอะ ต้องขอความเป็นธรรมให้กับบริษัทฯ ด้วย

ส่วนกรณีที่ยังไม่มีการลงนามสัญญาโครงการฯ นั้น ไม่ได้รู้สึกกังวลแต่อย่างใด ขณะนี้รอการอนุมัติให้ลงนามสัญญา ไม่ว่าจะรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนก็สามารถรอได้ หากเคาะอนุมัติ และลงนามสัญญาได้ บีอีเอ็ม และ ช.การช่าง พร้อมทำงานทันที โดยมีเงินทุนพร้อม อย่างไรก็ตาม ตั้งเป้าหมายหากได้ลงนามสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะสั่งซื้อรถไฟฟ้าทันที ภายใต้โจทย์ของรฟม.ว่าต้องสามารถให้บริการเดินรถได้ภายหลังลงนามสัญญาประมาณ 3 ปีครึ่ง ซึ่งเราคิดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ก่อนกำหนด จะใช้เวลาแค่ 3 ปี หรือประมาณปี 2569 เปิดเดินรถส่วนตะวันออก หรืออาจจะเปิดให้บริการเร็วกว่านั้น แต่จะเป็นการทยอยเปิดให้บริการเป็นช่วงๆ จากนั้นในปี 2572 จะเปิดครบตลอดทั้งสาย ทั้งส่วนตะวันออก และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ