บีโอไอเผยช่วง 2- 3 ปี ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย เงินลงทุนแตะ 80,000 ล้าน

83
0
Share:

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอ ) เปิดเผยว่า การจัดงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมระดับนานาชาติ “SUBCON Thailand 2024” ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤษภาคม 2567 โดยภายในงานบีโอไอได้จัดกิจกรรมพิเศษ “BOI Symposium: EV Supply Chain Edition” ระหว่างวันที่ 15 – 17 พฤษภาคม 2567 ต่อเนื่องกัน 3 วัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ 7 ค่ายรถยนต์ชั้นนำของจีน ได้แก่ BYD, MG, Great Wall Motor, NETA, Changan, GAC Aion และ Omoda & Jaecoo ได้มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแผนการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ พร้อมยกระดับผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ Supply Chain ของโลก โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังแผนการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ รวมกว่า 1,500 คน

ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์จากจีนที่ได้เริ่มผลิตอีวีในประเทศไทยแล้วมี 3 ราย ได้แก่ GWM, NETA และ MG ส่วน BYD และ GAC Aion มีแผนเริ่มผลิตในช่วงไตรมาส 3 – 4 ของปีนี้ และ Changan จะเริ่มผลิตในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศจะทยอยเพิ่มสูงขึ้น การเปิดเวทีครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศจะได้รับฟังทิศทางการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและแผนการจัดซื้อชิ้นส่วนโดยตรงจากผู้บริหารค่ายรถยนต์ สร้างโอกาสการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกัน และร่วมกันยกระดับ Supply Chain ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เข้มแข็ง เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกในอนาคตนายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ บีโอไอ ได้ให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกเซกเมนต์ และชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด 17 ชิ้น รวมทั้งแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ โดยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท มีโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่ (BEV) 18 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารวม 400,000 คัน

สำหรับเวที “BOI Symposium: EV Supply Chain” 7 ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของจีน ได้แก่ BYD, MG, Great Wall Motor, NETA, Changan, GAC Aion และ Omoda & Jaecoo ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และแผนการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ โดยแต่ละรายตอกย้ำจุดยืนในการใช้ไทยเป็นฐานผลิตหลักในอาเซียน และมองโอกาสที่จะใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูงสุดถึงร้อยละ 90 เพื่อให้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกในอนาคต

นายหม่า ไห่หยาง (Ma Haiyang) ผู้จัดการทั่วไปด้านธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท GAC AION New Energy Automobile หรือ GAC AION กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นพัฒนาห่วงโซ่การผลิตในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง และต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งจะมีการลงทุนในส่วนโรงงานผลิต รวมทั้งจัดจำหน่ายในไทยและต่างประเทศ โดยจะร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

นายหยู่ปิน เคอ (Yubin Ke) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าในปี 2023 BYD เป็นผู้ผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ยอดขายอันดับ 1 ของโลก และมียอดขายสะสมทั่วโลกกว่า 7 ล้านคันในเดือนมีนาคม 2024 ปัจจุบันโรงงานบีวายดีเตรียมใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่าร้อยละ 40 จากผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายรายในประเทศไทย และมีแผนการจัดซื้อเพิ่มขึ้นทุกปี ในอนาคตจะยกระดับการผลิตและพัฒนาชิ้นส่วนในประเทศให้เป็น “Made in Thailand” เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน

นายเซิน ซิงหัว (Shen Xinghua) ประธานบริษัท บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ฉางอานมีเป้าหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีแผนลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อผลิตรถยนต์พลังงานใหม่กว่า 1.5 ล้านคัน สำหรับประเทศไทย ฉางอันต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียน ทั้งการผลิต ขาย รวมถึงการวิจัยและพัฒนา โดยจะมีการลงทุนราว 10,000 ล้านบาท บริษัทฯ คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในไตรมาสแรกของปี 2568 มีกำลังการผลิตมากกว่า 100,000 คัน โดยใช้ชิ้นส่วนในประเทศถึงร้อยละ 60 และมีโอกาสที่จะเพิ่มไปถึงร้อยละ 90 จากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลไทย

นายไมเคิล ฉง (Michel Chong) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า GWM ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตที่ จ.ระยอง แล้วกว่า 12,500 ล้านบาท มีการจ้างแรงงานกว่า 3,000 คน มีกำลังการผลิตรถยนต์ 80,000 คันต่อปี และในอนาคตมีแผนลงทุนในไทยเพิ่มเป็น 22,500 ล้านบาท โดยจะร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงยกระดับ Supply Chain ของไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้นและสร้างการเติบโตให้กับประเทศไทยในระยะยาว โดยจะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศร้อยละ 80 – 90 ภายใน 3 – 5 ปีข้างหน้า

นายชู กังจื้อ (Shu Gangzhi) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า เนต้า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดในประเทศไทย โดยปี 2022 ได้เปิดตัวรถยนต์ 1 รุ่นเพื่อทำตลาดในประเทศไทย โดยมียอดขายเป็นอันดับ 2 และปีนี้โรงงานเนต้าในประเทศไทยจะเริ่มเดินเครื่อง โดยมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่าร้อยละ 60 จากผู้ผลิต 16 ราย และตั้งเป้าเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้ได้ถึงร้อยละ 85 ทั้งนี้ บริษัทเชื่อมั่นการลงทุนในไทย ด้วยความพร้อมของ Supply Chain ที่แข็งแกร่งในประเทศไทย เชื่อว่าทั้งจีนและไทยจะประสบความสำเร็จร่วมกันในอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก

นายฉี เจี๋ย (Qi Jie) ประธาน บริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Chery Group กล่าวว่า บริษัทฯ ถือเป็นน้องใหม่ที่เข้ามาทำตลาดประเทศไทย แต่เป็นน้องใหม่ไฟแรงที่พร้อมทำงานร่วมกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในแต่ละประเทศ บริษัทมีโรงงานผลิตรวม 10 แห่งทั่วโลก โดยรถยนต์ของบริษัทมีการส่งออกไปยัง 80 ประเทศทั่วโลก และไทยจะเป็นฐานผลิตหลักในอาเซียนบริษัทฯมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนในแต่ละประเทศ ดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนจากจีนเข้ามาร่วมมือกัน ให้เกิด “Win-Win” ทั้งสองฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่การผลิตรถยนต์พลังงานใหม่อย่างสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นทั่วโลก

นายสุโรจน์ แสงสนิท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ซีพี จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ MG กล่าวว่า สำหรับแบรนด์ MG ได้เข้ามาทำตลาดในไทยปีนี้เป็นปีที่ 11 มีการผลิตรถยนต์หลากหลายรุ่น รวมยอดขายสะสม 225,000 คันในประเทศไทย และต้นปี 2024 ได้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV รุ่นแรก MG4 เพื่อจำหน่ายในตลาดประเทศไทย โดยบริษัทได้ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ และร่วมมือกับ Supplier ไทย ในการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเชื่อมั่นว่านโยบายสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทย และสามารถเพิ่มโอกาสในการเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลก