บูมอีสาน! หอการค้าไทย-สภาหอการค้าฯ ชงรัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจอีสาน บูมท่องเที่ยว

338
0
Share:

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจัดประชุมรับฟังข้อเสนอทางเศรษฐกิจของหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะช่วยดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็วในระยะสั้น ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอินโดจีน ทั้ง สปป ลาว กัมพูชา และเวียดนาม พร้อมทั้งมีข้อเสนอให้เร่งรัดแผนงานสำคัญ อาทิ การผลักดันและติดตามการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จ.เลย การผลักดันจังหวัดสกลนครเป็นเมืองหัตถกรรมโลกแห่งสีครามธรรมชาติในปี 2023 การพัฒนาพื้นที่บริเวณวิมานพญาแถนและพื้นที่โดยรอบ จ.ยโสธร ตลอดจนได้พูดคุยถึงข้อเสนอของแต่ละจังหวัดที่อยากให้มีการจัดตั้งสำนักงาน ททท.ในทุกจังหวัด ซึ่งส่วนนี้หอการค้าทั่วประเทศสามารถเข้าไปสนับสนุนบุคลากรและทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ททท. เพื่อสนับสนุนภารกิจส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดการกระจายรายได้ทั่วประเทศ

ส่วนด้านการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือเป็นประตูเชื่อมโยงประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าไทยไปยังจีนที่สามารถยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้อำนวยความสะดวกและเพิ่มตัวเลขเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ซึ่งหอการค้าฯ อีสานได้นำเสนอแผนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ Business Center หนองคาย โครงการถนนผังเมือง สาย ง3 เชื่อมระหว่างถนนเทวาภิบาล และถนนผดุงพานิช ระยะทางประมาณ 0.260 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด การผลักดันจุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกูเป็นจุดผ่านแดนถาวร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ การผลักดันโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรช่องจอมแห่งใหม่ อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจชายแดน การผลักดันโครงการยกระดับถนนวงแหวนรอบเมือง (ทล.231 ถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานี ม.3+642 – กม.8+383 (บ้านทัพไทย+บ้านคูเดื่อ) การเจรจาขอเปิดเส้นทางการค้าและการลงทุนเส้นทางศรีสะเกษปราสาทพระวิหารเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา การผลักดันและเร่งรัดโครงการก่อสร้างถนนผังเมืองรวมสาย ค.1-.4 อำนาจเจริญ และการเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย ลาว จีน ซึ่งจะเป็นจุดพลิกผันและดันภาคการค้า การท่องเที่ยว ในพื้นที่ภาคอีสานให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พูดคุยถึงประเด็นปัญหาและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยเฉพาะปีนี้จะมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ และน่าจะยาวถึงปี 2567 จากปริมาณน้ำฝนมีค่าน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศ ซึ่งภาคเอกชนเห็นว่า รัฐบาลควรเร่งจัดทำแผนระยะสั้นในการบริหารจัดการพื้นที่กักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในการอุปโภคบริโภคของประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร ที่ถือเป็นรายได้หลักของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสาน โดยได้มีการเสนอให้จัดทำโครงการเติมน้ำใต้ดินเสริมบริเวณเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย แก้มลิง พื้นที่หน่วงน้ำ และลำน้ำสาขา จำนวน 3 รูปแบบ ทั้งการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น แบบบ่อวงคอนกรีตแบบคลองเติมน้ำและการเติมน้ำใต้ดินระดับลึก

โครงการศึกษาและสำรวจจัดสร้างวงแหวนน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในเขตจังหวัดชัยภูมิและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนในระยะยาว ทราบว่ารัฐบาลเคยมีแผนและการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของชาติทั้งระบบมาก่อนแล้ว ภาคเอกชนจึงคิดว่าควรจะหยิบยกมาพิจารณาและเดินหน้าต่อ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สามารถดำเนินการได้เป็นรูปธรรม ซึ่งข้อเสนอต่างๆ ที่ได้มีการหารือในครั้งนี้ หอการค้าไทยจะจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน และนำเสนอผ่านกลไก กรอ. ไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาต่อไป