บ้วยอาเซียน! ต่างชาติมองเศรษฐกิจไทยปี 64 เลวร้ายที่สุดในอาเซียน ก.คลังหั่นจีดีพีปี 64 หาย 1% เหลือแต่ 1.8%

356
0
Share:

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก สื่อชั้นนำด้านเศรษฐกิจระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีความเป็นไปได้สูงที่จะตกต่ำเลวร้ายที่สุดในภูมิภาคอาเซียน สะท้อนจากนักเศรษฐศาสตร์ไปจนถึงสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชั้นนำทั้งในและต่างประเทศประกาศตัดลดตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจ หรือจีดีพีปีนี้ลงทุกสำนักท่ามกลางสถานการณ์ติดเชื้อรายวันในไทยที่พึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์วันต่อวัน ปัจจัยการเมืองที่ตึงเครียดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ความหวังที่จะเห็นนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยที่ลดหาย

บลูมเบิร์ก เปิดเผยผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจำนวน 36 คนเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจไทยปี 2564 พบว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 1.8% ซึ่งถือได้ว่าอ่อนตัวลงมาก ในขณะที่เมื่อปี 2563 เศรษฐกิจไทยดำดิ่งหนักถึง -6.1% ย่ำแย่ที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษผ่านมา

กระทรวงการคลัง ประเทศไทย ประกาศปรับลดตัวเลขจีดีพีปีนี้ลงจากเดิมที่ระดับ 2.3% ในการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ลงมาเหลือเพียง 1.3% หรือลดหายไปมากถึง 1% จากที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หรืออาจกลายเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่เศรษฐกิจไทยจะตกต่ำ หรือมีจีดีพีติดลบอีก หากเกิดขึ้นจริง จะกลายเป็นสถิติเศรษฐกิจไทยชะลอตัว 2 ปีติดกันนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งของไทยในปี 2540 หรือในรอบ 24 ปี

นายชาร์นน บุนนุช นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการเงินโนมูระ โฮลดิ้งส์ อินคอร์ปอเรชั่น ซึ่งอยู่ที่สาขาประเทศสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยจะยังไม่กลับไปเหมือนช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ได้ก่อนไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 หรืออีก 1 ปีจากนี้ไป ซึ่งกลายเป็นประเทศที่ฟื้นตัวช้าที่สุดในชาติอาเซียน ส่วนหนึ่งสะท้อนจากประเทศไทยพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวมากจนเกินไป

ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในไทย อาจส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงมากถึง 2% จากตัวเลขจีดีพีปี 2564 บนเงื่อนไขที่ว่ามาตรการปิดล็อกดาวน์ และข้อจำกัดอื่นๆ ล้มเหลวในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ในไทย และภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ยืดเยื้อถึงสิ้นปีนี้

ปัจจัยการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย เพื่อคาดหวังว่าจะเร่งให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือราว 70% ให้ได้ภายในสิ้นปี 2564 นั้น ปรากฏว่าข้อมูลการติดตามอัตราการฉีดวัคซีนของบลูมเบิร์กมาจนถึงปัจจุบัน ไทยฉีดวัคซีนครอบคลุมเพียง 11% ของจำนวนประชากร ในขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยประเมินว่า ไทยจะสามารถฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในครึ่งปีแรกของปี 2565 แต่ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับมองว่าจะล่าช้าออกไปอีกเป็นหลังจากปี 2565 เป็นต้นไป

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ไทยอยู่ในภาวะวิกฤตรุนแรง และระบบสาธารณสุขของไทยอยู่ในจุดเริ่มต้นของการล่มสลาย มาตรการเยียวยาหรือชดเชยไม่เพียงพอ ประชาชนทีจำนวนมากขึ้นที่ไม่เชื่อถือรัฐบาล ทำให้บางส่วนเปิดการเคลื่อนไหวการเมืองตามท้องถนน เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ความเชื่อมั่นสูญเสีย และกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะฟื้นตัวด้วยเครื่องยนต์ที่เหลือเพียง 2 ด้าน ได้แก่ การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญความไม่แน่นอน และการส่งออกของไทยที่ทำสถิติส่งออกมากที่สุดในรอบ 11 ปีเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ขยายตัวสูงถึง 43.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา แต่เครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้ง 2 ตัวอาจเผชิญความเสี่ยง ถ้าหากสถานการณ์การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 เป็นอย่างล่าช้าอย่างที่เผชิญในขณะนี้