ปตท. จุดพลังเปลี่ยนโลก ร่วมยินดีกับผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 21

214
0
Share:
ปตท. จุดพลังเปลี่ยนโลก ร่วมยินดีกับผู้ได้รับ รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 21

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) คณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว และเครือข่ายลูกโลกสีเขียวทั่วประเทศ ร่วมยินดีกับผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ในงานพิธีมอบรางวัลฯ ครั้งที่ 21 ณ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “จุดพลังเปลี่ยนโลก”

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวว่า กว่าสองทศวรรษที่ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ได้ทำหน้าที่ในการค้นหา ยกย่อง ชื่นชม และเป็นกำลังใจให้กับบุคคล กลุ่มคน ชุมชนที่เข้มแข็ง พลังเล็กๆ เหล่านี้ ร่วมกันดูแลโลก รักษาสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้ ผลงานอันทรงคุณค่าทั้ง 44 ผลงาน ทุกผลงานล้วนมีคุณค่าต่อสังคมและประเทศเป็นอย่างยิ่ง

“ขอชื่นชมผู้ที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวทุกท่าน ซึ่งได้อุตสาหะ เสียสละ อุทิศกายและใจ ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จนเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ ยิ่งในสถานการณ์ที่โลกรวน และภัยธรรมชาติอันเลวร้าย ผลงานทั้งหลายนี้ แสดงให้เห็นถึงทางออก ทางรอด และความหวัง ช่วยจุดพลังเปลี่ยนโลก”

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ กล่าวว่า ปตท. ในฐานะองค์กรพลังงานของไทยได้ดำเนินภารกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานสถาบันลูกโลกสีเขียว ตั้งแต่เริ่มต้น ยิ่งในปัจจุบัน ยังมีส่วนร่วมสำคัญต่อการผลักดันประเทศไทยและโลก สู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อการตอบสนองต่อวิกฤติสิ่งแวดล้อม รางวัลลูกโลกสีเขียวมอบให้แก่บุคคลและชุมชนที่รักษา ดิน น้ำ ป่า ซึ่งป่าเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางธรรมชาติที่ดีที่สุด

ดังนั้นการฟื้นฟู รักษา และปลูกป่าเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโลก ขณะเดียวกัน ปตท. เร่งดำเนินธุรกิจ ให้มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2050 ด้วยการมุ่งเน้นในมิติต่างๆ 3 ด้าน คือ เร่งปรับ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เร่งเปลี่ยน เพิ่มการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด และธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน และ เร่งปลูก เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนไทย ช่วยเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ ด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และประสานความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มพื้นที่ป่า รวม 2 ล้านไร่ ซึ่งหวังว่าการดำเนินงานต่างๆ จะช่วยแก้ไขและร่วมบรรเทาวิกฤตทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น”

พิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 21 นี้ มีผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 44 ผลงาน ประกอบด้วยรางวัลประเภทชุมชน 8 ผลงาน รางวัลประเภทบุคคล 3 ผลงาน รางวัลประเภทกลุ่มเยาวชน จำนวน 8 ผลงาน รางวัลประเภทงานเขียน 3 ผลงาน รางวัลประเภทความเรียงเยาวชน 8 ผลงาน รางวัลประเภทสื่อมวลชน 1 ผลงาน และรางวัลประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน 13 ผลงาน โดยผลงานทั้งหมด สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัว ปรับเปลี่ยน และจัดการกับวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม และพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน

“รางวัลลูกโลกสีเขียว” ถือกำเนิดขึ้นในปี 2542 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเป็นกำลังใจยกย่องและเผยแพร่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบุคคล กลุ่มคน และเยาวชน ให้เป็นที่รับรู้ของสังคมในวงกว้าง ด้วยความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ อาทิ องค์กรพัฒนาเอกชน นักอนุรักษ์ นักวิชาการ นักเขียน สื่อมวลชน ฯลฯ ปัจจุบันมีผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวแล้ว 807 ผลงาน