ปตท.ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 กลับมามีกำไร 12,053 ล้านบาท

680
0
Share:

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 54,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,823 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.4 จากไตรมาส 1 ปี 2563
.
โดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนเป็นผลมาจากการวางแผนการดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งมีค่าเสื่อมราคาและภาษีเงินได้ลดลง ส่งผลให้มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2563 จำนวน 12,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,607 ล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 100 จากขาดทุนสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 1,554 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 86,593 ล้านบาท ลดลง 67,734 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 43.9 จากช่วงครึ่งแรกของปี 2562
.
เนื่องจากสงครามราคาน้ำมัน สภาวะอุปทานล้นตลาดของน้ำมันดิบ ประกอบกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งนำไปสู่มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิในครึ่งแรกของปี 2563 เป็นจำนวน 10,499 ล้านบาท ลดลง 44,751 ล้านบาท หรือร้อยละ 81.0 จากในครึ่งแรกของปี 2562
.
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ยังคงไว้ซึ่งภารกิจหลักด้านความมั่นคงทางพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน ในด้านการบริหารองค์กร กลุ่ม ปตท. ได้ประเมินผลกระทบและติดตามสถานการณ์
.
พร้อมวางแผนการดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผ่านศูนย์ PTT Group Vital Center ด้วยแนวคิด 4 R’s เริ่มจาก Resilience สร้างความยืดหยุ่นพร้อมดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความปลอดภัยให้พนักงาน ประเมินสุขภาพองค์กร ลด-ละ-เลื่อน ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยคาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกลุ่ม ปตท. ในปี 2563 ได้ 10%-15% พร้อมทั้งจัดความสำคัญของโครงการลงทุน Restart เตรียมความพร้อมในการนำธุรกิจ พนักงาน ลูกค้าและคู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุดและรักษาความสามารถทางการแข่งขัน Re-imagination เตรียมออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal
.
ทั้งการเติบโตในธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ และ Reform พิจารณาปรับเปลี่ยนโดยจัดโครงสร้างองค์กรหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต พร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น
.