ปตท. ส่งสัญญาณราคาก๊าซธรรมชาติแพงต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี ดันค่าไฟฟ้าแพงต่อเนื่อง

538
0
Share:
ปตท

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า กล่าวว่า ปตท. พร้อมให้ความร่วมมือในการดูแลต้นทุนค่าก๊าซฯของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการหลายรูปแบบรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาทไปแล้ว และล่าสุด อยู่ระหว่างหารือ กับ กกพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อ LNG ช่วงราคาตลาดโลกอ่อนตัวลง มาเก็บกักไว้ใช้เพราะตามฤดูกาลแล้วช่วงพ้นหน้าหนาวราคาจะต่ำลง โดยในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 21-22 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จากที่ปีนี้ราคาทำสถิติสูงสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ประมาณ 84-85 เหรียญต่อล้านบีทียู  และคาดว่าในช่วง 3 ปีนี้ราคาจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับนโยบายของรมว.พลังงานที่ต้องเร่งทำแผนระยะยาวในการนำเข้าแอลเอ็นจี เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยควรจะมีแนวทางที่ชัดเจนออกมาในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ดังนั้น  การล็อกทั้งปริมาณและราคานำเข้าก็จะทำให้ได้ราคาที่ต่ำ โดย เห็นว่า สัดส่วนการใช้แอลเอ็นจี ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ควรเป็นการจัดหาภายใต้สัญญาระยะยาว 70% และสัญญาระยะสั้น 30% จากก่อนหน้านี้ ในช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ทั้งสัญญาระยะยาวและระยะสั้นใกล้เคียงกัน อยู่ที่ 50:50

“แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติ จะยังเป็นขาขึ้นไปอีก 2-3 ปี จากผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และยังเป็นผลจากการฟื้นตัวหลังโควิด-19ซึ่ง ประเทศไทยก็ต้องวางแผนการนำเข้าให้เหมาะสม เพื่อทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด ซึ่ง ปตท.พร้อมให้ความร่วมมือทั้งการนำเข้าและการเร่งรัดสถานีแอลเอ็นจีหนองแฟบให้เสร็จเร็วขึ้นเพื่อรับความต้องการแอลเอ็นจีที่สูงขึ้น”นายวุฒิกร กล่าว

สำหรับโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2  หนองแฟบจังหวัดระยอง [T-2] ระยะแรก จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในช่วงปลายเดือนมิ.ย.หรือ ต้น ก.ค.นี้ ซึ่งจะรองรับการนำเข้า LNG ได้ 2.5 ล้านตัน และสิ้นปีจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมรองรับนำเข้า LNG ได้รวม 7.5 ล้านตัน ทำให้รวมกับ Terminal แห่งที่ 1 มาบตาพุดแล้ว ประเทศไทยจะมีศักยภาพรองรับ LNG ได้ถึง 19 ล้านตันต่อปี ส่วนการจองสิทธิ์เพื่อใช้บริการ Terminalแห่งที่ 2 นั้น จะต้องสอดรับกับการพิจารณาของ กกพ.ด้วย เพราะการนำเข้า LNG ของ Shipper แต่ละราย จะต้องผ่านการอนุมัติจาก กกพ.ก่อน

สำหรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปีนี้ คาดว่า จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากที่ประเทศไทยเปิดเมืองและอากาศร้อน โดยไตรมาส 1/65   ความต้องการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 4,420 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้น 5-6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/ 64 โดยความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น มาจากภาคการผลิตไฟฟ้า ที่มีความต้องการใช้ก๊าซฯ 2,650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ก็เริ่มกลับมาเดินเครื่องการผลิตมากขึ้นตามทิศทางการเปิดประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ คาดว่า ปี 2565  ประเทศไทยจะมีความต้องการนำเข้าแอลเอ็นจีรวมอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตัน แบ่งเป็นสัญญา ระยะยาวของ ปตท.  5.2 ล้านตัน(ราคาเฉลี่ยเดือนพ.ค.อยู่ที่ประมาณ 12-13 เหรียญต่อล้านบีทียู ) และอีก 5 ล้านตัน จะเป็นตลาดจร( Spot LNG )ที่ กกพ.จะเป็นผู้พิจารณาให้นำเข้าโดย Shipper โดยปีนี้มีผู้ได้รับอนุญาตแล้วคือ  ปตท. และ กฟผ. ซึ่งจากที่ราคาสูงทำให้ชิปเปอร์รายอื่นๆยังไม่นำเข้า ทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซของประเทศปีนี้ ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีประมาณ30-35 %  ก๊าซในประเทศ (ราคาประมาณ 6 เหรียญ/ล้านบีทียู ) ประมาณ 45% นำเข้าก๊าซจากเมียนมา (ราคาประมาณ 8 เหรียญ/ล้านบีทียู )ประมาณ 20 %

โดยกรณีราคาแอลเอ็นจีตลาดจรที่ประมาณ 21-22 เหรียญต่อล้านบีทียู ก็จะส่งผลให้ราคาต้นทุนก๊าซเฉลี่ย (POOL ) ของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท/ล้านบีทียู
ที่ผ่านมา ปตท.ได้ช่วยเหลือลูกค้าก๊าซธรรมชาติ ในช่วงราคาพลังงานผันผวน อย่างต่อเนื่อง  ได้แก่

1.กลุ่มผู้ใช้ก๊าซ NGV ผ่านมาตรการ
เอ็นอีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน คงราคา ที่ 13.62 นาท/กิโลกรัม และรถทั่วไป ที่ 15.59 นาท/กิโลกรัม (1พ.ย.64-15มิ.ย.65)วงเงิน 3,322 ล้านบาท

2.กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม  ได้ ร่วมรับภาระตั้งแต่ พ.ย.64 และอยู่ระหว่างหาทางเลือกเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมาใช้วงเงินร่วมรับภาระแล้ว 6,857 ล้านบาท

3.กลุ่มลูกค้าไฟฟ้า SPP มีราคาส่งเสริมพิเศษสำหรับก๊าซที่ใช้ในอุตสาหกรรมประมาณ 3 เดือน วงเงิน 255 ล้านบาท

4.กลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG ซึ่งปตท. ช่วยเหลือให้ส่วนลดแก่กลุ่มร้านค้า หานเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสติการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาท/คน/เดือน ตั้งแต่ 1 ต.ค.62 – 30 มิ.ย. 65 วงเงินรวมประมาณ 18 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธุรกิจก๊าซฯ ปตท.ยังได้ปรับตัวรองรับกับโอกาสและความท้าทาย ที่ความนิยมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น การเพิ่มมูลค่าทั้งมีธุรกิจใน สถานีบริการ NGVและอื่นๆ  ซึ่งจะเป็นได้ว่า สถานี NGV ปตท. สาขากำแพงเพชร 2 ได้ปรับโฉมรูปแบบใหม่ เป็นสถานีนำร่องที่ให้บริการสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) แห่งแรก ในปีนี้คาดว่า  จะขยายเพิ่ม ให้ครบ 10 แห่ง ซึ่ง สาขากำแพงเพชร 2 พบว่า มีผู้สนใจนำรถอีวี เข้ามาใช้บริการวันละ 50-60 คัน