ประธานสหภาพฯบินไทยรับพนักงานบางส่วนอาจถูกเลิกจ้าง หากเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการ

749
0
Share:

นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เปิดเผยว่าหลังจากที่การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายในศาลล้มละลายกลาง บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) จะหลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และหลุดพ้นจากพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 ทำให้สิทธิคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายดังกล่าวจะหมดไปด้วย
.
โดยอาจจะเข้าสู่สิทธิ์ตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 แทน ซึ่งขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการตัวแทนที่เข้ามาบริหารแผนจะเข้ามาปรับโครงสร้างองค์กรทุกหน่วยงานเพื่อให้กิจการของบริษัทกลับมาเดินต่อไปได้ ดังนั้นบุคลากรของบริษัทในปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 21,000 คน อาจต้องถูกเลิกจ้างบางส่วนในระหว่างที่บริษัทกำลังจะเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นสิทธิ์ตามกฎหมายของนายจ้าง ที่จะบอกเลิกจ้าง ก่อนที่พนักงานจะอายุครบเกษียณ ส่วนโครงการร่วมใจจากองค์กรคงไม่มีแน่นอน

โดยพนักงานทุกคนที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับการชดเชยตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ โดยจะได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนกัน โดยจะมีหลักเกณฑ์ใหม่ในการจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง แบ่งออกเป็น ดังนี้

1.ทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน
2.ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน
3.ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 วัน
4.ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี ได้ค่าชดเชย 240 วัน
5.ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน
6.ทำงานครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน
สำหรับเงินชดเชยเลิกจ้าง จะจ่ายให้ในกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยที่ไม่ได้มีความผิด หรือไม่ได้ลาออกเองโดยสมัครใจ
.
วันนี้ต้องพูดความจริงกับเพื่อนพนักงาน มันเป็นความจริงที่เจ็บปวด ในฐานะประธานสหภาพไม่อยากจะพูด แต่ต้องพูดเพื่อให้พวกเราพนักงาน รับรู้ความเป็นจริงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อเพื่อนพนักงานจะได้วางแผน และเตรียมตัวเตรียมใจ รองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงกับพวกเราต่อจากนี้นี่คือภารกิจสุดท้ายที่ตนจะทำได้ ก่อนสหภาพถูกยุบ
.
มีรายงานว่า นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ได้นัดประชุม staff meeting พนักงานของการบิน เพื่อชี้แจงถึงฐานะของการบินไทยหลังจากเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลาง แต่ล่าสุดพบว่า มีการแจ้งยกเลิกการประชุมกะทันหัน โดยขอเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะติดภารกิจ