ประสิทธิภาพวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 โดสลดฮวบเหลือ 23% เมื่อเจอพันธ์ุโอไมครอน

557
0
Share:
ซิโนฟาร์ม

นักวิจัยระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และฮิวแมบส์ ไอโอเมด ซึ่งเป็นเวชภัณฑ์ด้านภูมิคุ้มกันจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ร่วมเปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนฟาร์มในการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมทดลองจำนวน 13 รายที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มครบ 2 โดส

ผลการศึกษาพบว่ามี 3 รายที่มีการสร้างภูมิคุ้มกันในขณะที่เหลือทั้ง 10 ราย ไม่พบภูมิคุ้มกันในการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอไมครอน คิดเป็นระดับประสิทธิภาพวัคซีนซิโนฟาร์มร่วงลงอย่างมากเหลือเพียง 23% ซึ่งเป็นผลจากเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนซิโนฟาร์มได้อย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าในปัจจุบัน และสายพันธุ์อื่นๆก่อนหน้านี้

นายเดวิด วีสเลอร์ รองศาสตราจารย์ คณะเคมีชีววิทยา แห่งมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ว่า ผลจากการศึกษาไม่สามารถตรวจพบภูมิต้านทานที่มากพอในการต่อต้านสายพันธุ์โอไมครอนจากวัคซีนซิโนฟาร์ม

นอกจากนี้ ในการศึกษาดังกล่าว ซึ่งค้นหาประสิทธิภาพของวัคซีนจำนวน 6 ยี่ห้อกับการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอไมครอน พบว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมทดลองโดยได้รับการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา ไฟเซอร์ และแอสตร้าเซเนก้า มีภูมิคุ้มกันต้านทานสายพันธุ์เดลต้า และสายพันธุ์อื่นๆ ที่สำคัญ เมื่อเจอกับสายพันธุ์โอไมครอน พบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันลดลง 33-44 เท่า แต่ยังคงตรวจพบภูมิคุ้มกันสายพันธุ์โอไมครอนในร่างกาย

รองศาสตราจารย์ คณะเคมีชีววิทยา แห่งมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ วอชิงตัน กล่าวต่อไปว่า วัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ยี่ห้อสปุตนิก วี ของรัสเซีย ไม่สามารถตรวจพบระดับภูมิคุ้มกันสายพันธุ์โอไมครอนได้เลย โดยพบผลการศึกษาจากอาสาสมัคร 12 ราย พบว่า มีเพียง 1 รายที่ฉีดวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่ตรวจพบระดับภูมิคุ้มกัน แต่อีก 11 รายที่ฉีดวัคซีนสปุตนิก วี ตรวจไม่พบภูมิคุ้มกันเมื่อเจอกับสายพันธุ์โอไมครอน

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายจาง หยุ่นเตา หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ กลุ่มบริษัทไชน่า เนชั่นแนล ไบโอเทค ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ในเครือซิโนฟาร์ม เปิดเผยว่า บริษัทฯได้เริ่มออกแบบวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 เฉพาะกับสายพันธุ์โอไมครอน ด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน 3 แพลทฟอร์ม แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดใดๆเพิ่มเติมอีก