ปรับเหลือทางแพ่ง! รัฐบาลจ่อชงสภาพิจารณาด่วนยกเลิก “กฎหมายเช็คเด้ง”

405
0
Share:
รัฐบาลจ่อชงสภาพิจารณาด่วนยกเลิก "กฎหมายเช็คเด้ง" พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิด

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งขณะนี้หลายหน่วยงานได้ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของหน่วยงาน ทั้งในรูปแบบการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ นำหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ตลอดจนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรม

โดยในส่วนของการปรับปรุงกฎหมาย รัฐบาลอยู่ระหว่างการเร่งรัดกฎหมายหลายฉบับด้วยกัน ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร วันจันทร์ ที่ 31 ต.ค. 65 ซึ่งให้เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 พ.ศ. … ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน

ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จะยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ทำให้เมื่อมีกรณีลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเจตนาทุจริต แต่เช็กไม่สามารถขึ้นเงินได้ เพราะเงินในบัญชีของลูกหนี้ไม่เพียงพอ หรือที่เรียกว่า เช็คเด้ง จะเหลือเพียงมูลความผิดที่ฟ้องร้องกันทางแพ่ง ไม่มีโทษทางอาญาที่ต้องถูกปรับหรือจำคุกอีกต่อไป

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 หากเกิดกรณีเช็คเด้งไม่ว่าจะมีเจตนาทุจริตหรือไม่ ลูกหนี้ต้องมีโทษทางอาญาถูกปรับหรือจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ เสมือนลูกหนี้ต้องเอาเสรีภาพของตนเองเป็นประกันว่าเช็กจะไม่เด้ง ทั้งที่ความเป็นจริงการที่เงินในบัญชีไม่พอจ่ายเจ้าหนี้ควรฟ้องร้องทางแพ่ง เรียกเงินตามเช็คเท่านั้น แต่เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้อยู่ทำให้ทางปฏิบัติเจ้าหนี้มักเลือกฟ้องเป็นคดีอาญาเพื่อข่มขู่ลูกหนี้

ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงินเปลี่ยนไปมากมีการใช้ทั้งบัตรเครดิต เดบิต การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาแทนที่การใช้เช็ค หากยังคงกฎหมายนี้ไว้อาจจะเป็นการใช้โทษอาญาในทางที่ไม่เหมาะสม รัฐบาลจึงเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ให้การจัดการหนี้สินระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อยู่ภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม

เมื่อกฎหมายยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดกจากการใช้เช็คฯ มีผลบังคับ ผู้ที่ต้องโทษอยู่จะได้รับการปล่อยตัวทันที หรือหากศาลพิจารณาคดีอยู่ก็จะจำหน่ายคดีส่วนอาญาออกไป และต่อไปนี้เจ้าหนี้จะไม่สามารถฟ้องทางอาญาเพื่อบีบคั้นลูกหนี้ไม่ได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะยกเลิกกฎหมายฉบับนี้แล้ว แต่ก็ยังมีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาลงโทษลูกหนี้ที่สั่งจ่ายเช็คเด้งโดยมีเจตนาทุจริต อยู่ในส่วนความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ การยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ยังเป็นการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดหลักการให้พึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิ์ทางการเมือง ที่กำหนดว่าบุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้