ปรากฏการณ์ “งูเห่า” ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง สะท้อนให้เห็นมิติสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ

302
0
Share:
ปรากฏการณ์ งูเห่า ทั้งก่อนและหลัง เลือกตั้ง สะท้อนให้เห็นมิติสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ

เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยบทความเกี่ยวกับ “งูเห่า” โดยผู้เรียบเรียงคือ รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ และ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย มีความน่าสนใจเกี่ยวกับประวัติและมิติสำคัญ 3 ด้านกับการเมืองไทย ดังนี้

“งูเห่า” ในการเมืองไทย เป็นการเปรียบเปรยถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งลงมติขัด ฝืน หรือแย้งกับมติของพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัด เพื่อที่จะได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จากฝ่ายที่ตนเองโหวตลงคะแนนให้ เปรียบเสมือนงูเห่าในนิทานอีสป ที่ได้รับการช่วยเหลือโดยชาวนา แต่กลับแว้งกัด ทำร้ายชาวนา ผู้มีพระคุณของตนเองจนถึงแก่ความตาย คำว่า “งูเห่า” ในการเมืองไทย ถูกบัญญัติใช้ครั้งแรกใน ปีปลาย 2540 เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยขณะนั้น กล่าวถึง ส.ส. กลุ่มปากน้ำ นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม ที่สังกัดพรรคประชากรไทย แต่กลับยกมือโหวตให้นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่พรรคประชากรไทยมีมติสนับสนุนพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ผลที่สุดก็คือ พรรคประชากรไทยต้องกลายเป็นฝ่ายค้านในสภา

เมื่อถึงปี 2562 คำเรียก “งูเห่า” ถูกนำกลับมาได้รับความสนใจและถูกพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง ที่เด่นชัดที่สุดก็คือกรณี ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ 4 คน ได้ลงมติผ่านพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 อันสวนทางกับมติพรรคที่มีมติให้ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว รวมถึงการลงมติอีกหลายครั้งในสภา จน ส.ส. ทั้ง 4 คน ต้องถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ในท้ายที่สุด

ชาวนากับงูเห่าในนิทานอีสป เป็นการเล่าถึงชาวนาคนหนึ่งช่วยชีวิตงูพิษซึ่งเกือบจะตายจากความหนาวเหน็บ เมื่อชาวนาให้ความอบอุ่นแก่งูตัวนั้น มันก็คลายตัวออกและรัดพันมือของชายผู้นั้น การฉกปลิดชีพเพียงครั้งเดียวคร่าชีวิตชายผู้ซึ่งหวังจะช่วยชีวิตมันไว้ ซึ่งนิทาน “ชาวนากับงูพิษ” ถูกเล่าขานมาอย่างยาวนาน เพื่อเตือนใจว่ามนุษย์ไม่ควรเอื้อเฟื้อหรือให้ความเมตตาสงสารกับคนชั่ว ตราบเท่าที่เขาเป็นคนชั่ว เขาก็สามารถทำร้ายทำลายทุกคนได้แม้แต่ผู้ที่เคยมีบุญคุณต่อตนเอง

สำหรับ “งูเห่า” กับการเมืองไทยนั้น คำเรียก “งูเห่า” ปรากฏครั้งแรก ในปี 2540 เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มปากน้ำ 12 คน นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม จากพรรคชาติไทย มีความขัดแย้งกับนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค จนกลุ่มปากน้ำไม่มีสังกัดพรรคอยู่ ทว่านายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ในขณะนั้น รับ ส.ส. กลุ่มปากน้ำเข้ามาสังกัดพรรคประชากรไทย แต่ภายหลังกลับโหวตลงคะแนนสนับสนุนนายกรัฐมนตรีซึ่งขัดกับมติของพรรคประชากรไทย ซึ่งขณะนั้นคือนายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนนเสียง 209 เสียงต่อ 185 เสียง นายสมัคร สุนทรเวช จึงเปรียบตัวเองว่าเป็นเหมือนชาวนา ซึ่งได้ช่วยเหลืองูเห่าแต่ภายหลังกลับมากัดตนเอง ตามท้องเรื่องในนิทานอีสป อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น พรรคประชากรไทยก็ได้มีมติขับ ส.ส. ทั้ง 13 คน ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อให้กลุ่มงูเห่าพ้นจากสถานภาพการเป็น ส.ส.

แต่ทว่ากลุ่มงูเห่าได้ยื่นคำร้องต่อศาลธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามมติของพรรคหรือไม่ ศาลธรรมนูญจึงได้วินิจฉัยไว้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 ว่า ส.ส. มีความเป็นอิสระและไม่จำเป็นต้องทำตามมติพรรคเสมอไป สมาชิกภาพการเป็น ส.ส. จึงมิได้สิ้นสุดลงอันเนื่องมาจากเหตุแห่งการโหวตสวนมติพรรค ดังนั้น มติพรรคประชากรไทยที่ขับ ส.ส. ออกจากพรรค ถือเป็นมติที่ไม่ชอบเพราะขัดกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ

แน่นอนว่า การตั้งรัฐบาลชวน หลีกภัย แกนนำกลุ่มงูเห่า ได้รับการจัดสรรที่นั่งรัฐมนตรีไปถึง 4 ตำแหน่ง ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้คำเรียก “งูเห่า” นอกจากจะบ่งชี้ไปถึงส.ส. กลุ่มปากน้ำ ของนาย วัฒนาอัศวเหม เป็นการเฉพาะแล้ว ยังถูกใช้ในการเมืองไทยโดยทั่วไปด้วย อันหมายถึง ส.ส. ที่โหวตสวนมติพรรค เพื่อผลประโยชน์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ต่อมาปรากฏการณ์ “งูเห่า” ครั้งที่สองเกิดขึ้นในระหว่างการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 หรือที่รู้จักกันในชื่อ การจัดตั้ง “รัฐบาลในค่ายทหาร” เมื่อ ส.ส.อีสาน “กลุ่มเพื่อนเนวิน” 23 คน นำโดยนายเนวิน ชิดชอบ เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมทั้งยกมือโหวตสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายยกรัฐมนตรี คนที่ 27 อันเป็นที่มาของวลีที่โด่งดัง ซึ่งนายเนวิน ชิดชอบ พูดถึงนายทักษิณ ชินวัตร ว่า “มันจบแล้วครับนาย” นั่นเอง และกลุ่มเพื่อนเนวิน ได้รับการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี 4 ตำแหน่ง นั่นก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่าปรากฏการณ์ “งูเห่า” มักเกิดขึ้นในยุคที่กฎกติกาการเลือกตั้งถูกออกแบบให้เกิดรัฐบาลผสมจากหลายพรรค และพรรคการเมืองเองก็มิได้มีความเข้มแข็งเป็นสถาบันทางการเมืองหลักในระบอบการปกครอง เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในปี 2562 ก็เกิดปรากฏการณ์ “งูเห่า” ภาคสาม ขึ้นทันทีในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ต้องมีการพิจารณาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีเสียงปริศนา 7 เสียงจากพรรคฝ่ายค้าน ที่ลงคะแนนลับให้นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 เพื่อพิจารณาลงมติร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ซึ่งสภามีมติเห็นชอบ 374 เสียง ต่อ 70 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียงนั้น การลงมติครั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่เป็นเพียงพรรคการเมืองเดียวที่มีมติพรรคไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยในการอภิปรายให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า ร่างพระราชกำหนดฉบับนี้สามารถจัดทำเป็นพระราชบัญญัติได้ โดยไม่จำเป็นต้องตราเป็นพระราชกำหนด ซึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องกระทำไปเพื่อเหตุผลจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คุ้นชินกับการใช้อำนาจพิเศษปราศจากการตรวจสอบ จากมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

ในจำนวนนี้มี ส.ส. อนาคตใหม่ 5 คน ไม่ทำตามมติพรรค โดย 3 คน ลงคะแนนโหวตเห็นชอบกับร่างพระราชกำหนดฉบับนี้ ได้แก่ นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี และ พันตำรวจโทฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี และอีก 2 คน ที่งดออกเสียงมาจาก นางสาวศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ และ พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์

อีกไฮไลท์ก็คือ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ในการโหวต พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในวาระแรก นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี จากพรรคอนาคตใหม่ ได้ลงมติรับหลักการตามเสียงของพรรคฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นการสวนมติของวิปฝ่ายค้านที่ให้งดออกเสียง

ต่อมาในเวลาใกล้เคียงกัน ปรากฏเป็นข่าวว่า นางสาวศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่พรรคอนาคตใหม่ เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ วีรกรรมของ “งูเห่า” อนาคตใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง ในคราวที่สภาผู้แทนราษฎรต้องลงมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาผลกระทบคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผลกระทบจากมาตรา 44 โดยพรรคฝ่ายค้านยืนยันจะวอล์กเอาท์อีกเพื่อทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล เสนอญัตติขอให้นับคะแนนใหม่ด้วยการขานชื่อ เหตุการณ์นี้ทำให้สภาล่มถึง 2 ครั้ง จนกระทั่งเมื่อถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ปรากฏว่ามี 10 เสียงของ ส.ส. จากฝ่ายค้านมาลงชื่อเป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล ในจำนวนนี้ปรากฏชื่อของ 2 ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่ ก็คือ นายจารึก ศรีอ่อน และ พันตำรวจโทฐนภัทร กิตติวงศา ลงชื่อเป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาลเพื่อทำให้ที่ประชุมเดินหน้าต่อไปได้ ผลการลงมติ ก็คือ ฝ่ายรัฐบาลชนะจากการลงมติไม่เห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการชุดดังกล่าว ด้วยเสียง 244 เสียง ต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง

สิ่งที่เป็นเสมือน “ฟางเส้นสุดท้าย” ก็คือ กรณีที่ นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ และพันตำรวจโท ฐนภัทร กิตติวงศา ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กิจกรรมแฟลชม็อบ บริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ในประเด็นเงินกู้ 191 ล้านบาท จากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

เมื่อถึงวันที่ 16 มกราคม 2563 ที่ประชุมใหญ่อนาคตใหม่ จึงมติขับ 4 ส.ส. งูเห่า ประกอบด้วย นางสาวกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พันตำรวจโท ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี นางสาวศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ และนายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ด้วยมติ 250 ต่อ 5 คะแนน

กล่าวได้ว่ากรณี “งูเห่า” ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการเมืองไทยสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของพรรคการเมือง เพราะหากพรรคการเมืองเข้มแข็งมากพอ ก็จะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับรัฐบาลได้ โดยการสะท้อนผลประโยชน์ผ่านนโยบายของพรรคการเมือง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกลงคะแนนเสียงโดยพิจารณาจากนโยบายของพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคลเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันธรรมชาติของ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งผูกพันกับพื้นที่เลือกตั้งและประชาชนในพื้นที่ของตนเอง จึงให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่มากกว่าการทำหน้าที่ที่เป็นทางการในรัฐสภา

จากนัยสำคัญต่อการเมืองไทยของปรากฏการณ์ “งูเห่า” ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งก่อนและหลังที่คำนี้จะถูกบัญญัติใช้ในการเมืองไทยได้สะท้อนให้เห็นมิติที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับกำหนดให้ ส.ส. มีเอกสิทธิ์ในการกระทำทางการเมือง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด เนื่องจาก ส.ส. เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ แต่ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญบางฉบับก็กำหนดให้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง (party mandate) และการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็จำเป็นต้องเคารพวินัยของพรรค (party discipline) หลักปฏิบัติที่ขัดกันทั้งสองประการนี้จึงกลายเป็นช่องโหว่ให้ ส.ส. สามารถใช้เอกสิทธิ์ที่ตนมีตามรัฐธรรมนูญ กระทำการทางการเมืองตามวิจารณญาณส่วนตน

ประการที่สอง พรรคการเมืองของไทยมักมีอุดมการณ์ไม่แตกต่างกันมากนัก อันสะท้อนให้เห็นได้จากการนำเสนอนโยบายในการเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองมักมีแนวนโยบายที่ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี 2544 พรรคการเมืองต่างๆ เรียนรู้ว่านโยบายที่ให้ประโยชน์กับประชาชนในวงกว้างจะสามารถนำมาแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงและความนิยมในการเลือกตั้งได้ การที่ ส.ส. ซึ่งสังกัดพรรคการเมืองหนึ่งลงคะแนนโหวตสวนมติพรรคที่ตนเองสังกัด จึงเท่ากับเป็นการประเมินแล้วว่า หากตนเองถูกขับออกจากพรรคเดิมที่สังกัดก็สามารถที่จะย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ได้ โดยไม่มีประเด็นเรื่องอุดมการณ์ หรือนโยบายที่แตกต่างกันของพรรคเข้ามาเกี่ยวข้อง

ประการที่สาม พฤติกรรมของ ส.ส. ที่โหวตสวนมติพรรคและย้ายสังกัดพรรคการเมืองในภายหลังเป็นดัชนีชี้วัดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ส.ส. กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กล่าวคือ การเลือกตั้งยังคงขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมพฤติกรรมของนักการเมือง เพราะเมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง ส.ส. ผู้ได้รับเลือกตั้งก็สามารถกระทำการทางการเมือง โดยปราศจากความยึดโยงกับประชาชนผู้เลือกตั้ง ความพร้อมรับผิดและความรับผิดชอบทางการเมือง และหาก ส.ส. งูเห่า ยังคงได้รับเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมหมายความต่อไปได้ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสำคัญไปที่ตัวบุคคลมากกว่าพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมือง

ขอบคุณเว็บไซต์ สถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=งูเห่า