“ปองพล อดิเรกสาร”แนะทางรอดการบินไทยต้องทิ้งสถานะรัฐวิสาหกิจ มาเป็นบริษัทมหาชนเต็มตัว

836
0
Share:

นายปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายกระทรวง ได้โพสต์เฟสบุ๊กเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาการบินไทยที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินว่าขณะนี้มีข่าวเกี่ยวกับบริษัทการบินไทยซึ่งประสบการขาดทุนอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมาจนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศในวันที่ 5 พ.ค. 2563 ให้โอกาสการบินไทยเป็นครั้งสุดท้ายในการเสนอแผนฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาการขาดทุน
.
ตนในฐานะผู้โดยสารผู้หนึ่งที่ใช้บริการของการบินไทยอย่างสม่ำเสมอมาเป็นเวลาหลายสิบปีและเคยเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจคือองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ.) เป็นเวลา 5 ปี ได้แก้ไขปัญหาขาดทุนติดต่อกันเป็นเวลา 12 ปีจนมีกำไรและสามารถให้โบนัสพนักงานได้ มีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาของการบินไทยดังนี้
.
ก่อนอื่นต้องขอพูดถึงโครงสร้างปัจจุบันของการบินไทยซึ่งมี 2 สถานะ อันเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง คือ
.
1.เป็นรัฐวิสาหกิจ ตามพรบ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และพรบ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 เนื่องจากมีหน่วยงานของรัฐถือหุ้นในการบินไทยเกิน 50% คือ 60.72% อีก 39.28% เป็นผู้ถือหุ้นเอกชน
.
การบินไทยมีคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารงานของบริษัท แต่ยังมี super board อีก 2 คณะคือคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจโดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้อนุมัติโครงการสำคัญที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เช่น การซื้อเครื่องบินของการบินไทยและการกู้เงิน
.
ซึ่งการมีคณะกรรมการหลายคณะและหลายขั้นตอนในการพิจารณาโครงการธุรกิจที่สำคัญและมีปัจจัยทางการเมืองที่อยู่เหนือการควบคุม แต่มีผลในทางลบต่อการดำเนินงานของการบินไทยซึ่งต้องแข่งขันในเชิงธุรกิจกับสายการบินอื่นอยู่ตลอดเวลา
.
2. เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ. 2534 ทุนจดทะเบียน 2,182,771,917 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท โดยมีผู้ถือหุ้นเป็นเอกชน 39.28% อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
.
จากโครงสร้างดังกล่าว ทำให้การบินไทยมี 2 สถานะ ตราบใดที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งอาจมีประโยชน์ในการกู้เงินโดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่จะมีปัญหาในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะเอกชนจะไม่กล้านำเงินของตนเองมาลงทุนเต็มที่ในการบินไทย โดยให้รัฐเป็นผู้บริหารงานตามโครงสร้างในข้อ 1 ซึ่งผลการขาดทุนจำนวนมากติดต่อกันหลายปีชี้ให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการบริหารงาน
.
ขณะเดียวกันการบินไทยมีจุดแข็งในด้านการบริการทั้งบนเครื่องบินและภาคพื้นดิน ซึ่งรวมทั้งการซ่อมบำรุงและครัวการบินตลอดจนความปลอดภัย ทำให้ได้รับรางวัลและคำชมเชยจากองค์กรเกี่ยวกับธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวหลายแห่ง และติดอันดับ 10 ของสายการบินดีที่สุดในโลกประจำปี พ.ศ. 2562
.
วิธีแก้ปัญหาคือการหาจุดอ่อนขององค์กรให้พบและขจัดจุดอ่อนเหล่านั้นให้หมดไปโดยเร็วและใช้ประโยชน์จากจุดแข็งขององค์กรอย่างเต็มที่ ซึ่งการบินไทยมีข้อมูลของจุดอ่อนและจุดแข็งอยู่ครบถ้วนแล้ว รอให้มีการพิจารณาดำเนินการอย่างเด็ดขาดและจริงจังจากผู้มีอำนาจตามกฏหมาย
.
จึงมีความเห็นว่าถึงเวลาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบินไทยทั้งหมดจะต้องตัดสินใจให้การบินไทยมีเพียงสถานะเดียว และขอเสนอให้สิ้นสุดสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยให้รัฐบาลขายหุ้นออกไปจาก 60.72% ให้เหลือเพียง 30% เพื่อมีส่วนรับผิดชอบในการเจรจาเรื่องสิทธิการบินในต่างประเทศของการบินไทย
.
เมื่อเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัวอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็เป็นหน้าที่ของผู้ถือหุ้นที่จะพิจารณานโยบายการบริหารธุรกิจการบินและสรรหาคณะกรรมการและผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถมาบริหารงาน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องเข้ามากำกับดูแลและเยียวยาการบินไทย ซึ่งประสบปัญหาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ ในกำกับที่ประสบปัญหาเดียวกันโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก