ปิดฉากเรียบ! ตระกูลอุทกะพันธุ์ปิดฉาก 47 ปีเจ้าของอมรินทร์ คอร์เปอเรชั่น

304
0
Share:
ปิดฉากเรียบ! ตระกูล อุทกะพันธุ์ ปิดฉาก 47 ปีเจ้าของ อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่น

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่น ทำการแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการลาออกของกรรมการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และเลขานุการบริษัท โดยมีผลตั้งแต่ 17 ตุลาคม 2566 ดังนี้

1. คุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และกรรมการกำกับดูแลบรรษัทภิบาลง

2. คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการความยั่งยืนและบริหารความเสี่ยง กรรมการบริหาร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และเลขานุการบริษัท

3. คุณโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม

โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ได้มีมติแต่งตั้ง คุณศิริ บุญพิทักษ์เกศ ดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยอยู่ระหว่างสรรหาและแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งแทน

สำหรับคุณศิริ บุญพิทักษ์เกศ เป็นผู้บริหารจากกลุ่มไทยเบฟ เข้ามาเป็นกรรมการบมจ.อมรินทร์ตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากบมจ.ไทยเบฟเข้ามาซื้อหุ้น อมรินทร์ ครั้งแรก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ผู้บริหารทีวีดิจิทัล ช่องอมรินทร์ทีวี 34

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมผ่านมา บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่น ทำการแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยระบุว่า นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ได้ขายหุ้น AMARIN จำนวน 138,387,052 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 13.86% ซึ่งเป็นการขายหุ้นออกไปหมดพอร์ต โดยผู้รับซื้อคือ บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด โดยการขายหุ้นในครั้งนี้ ราคาหุ้นละ 5.50 บาท คิดเป็นเงินรวม 761.13 ล้านบาท สำหรับ บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด มีกรรมการคือ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี, นายปณต สิริวัฒนภักดี นางวัฒนา ลิ่มนรรัตน์ นางนิดดา ธีระวัฒนชัย นางนิภา อัศวกิตติพร นายกำพล ปุญโสณี

บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ ก่อตั้งโดย นายชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ เมื่อปี 2519 ซึ่งมีอายุมากว่า 47 ปี ทำการประกอบกิจการโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์หลายหัวชื่อดัง เช่น “บ้านและสวน” ก่อนที่จะปิดหัวนิตยสารลงเนื่องจากการเข้ามาถึงเทคโนโลยีออนไลน์ และธุรกิจทีวีดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตช่อง 34

สถานการณ์ทางธุรกิจของกลุ่มอมรินทร์มีปัญหาชัดเจนในช่วงปลายปี 2559 ซึ่งเผชิญกับภาระขาดทุนจากการดำเนินกิจการธุรกิจทีวีดิจิทัล ส่งผลให้ต้องเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น รวมมูลค่ากว่า 850 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท การเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นการโดยขายหุ้นให้กับบริษัท วัฒนภักดี จำกัด ซึ่งมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และคุณปณต สิริวัฒนภักดี จึงส่งผลให้ทายาทเจ้าสัวเจริญ ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มอมรินทร์ มีการถือครองหุ้นในสัดส่วนสูงถึง 47.62% ต่อมากลุ่มไทยเบฟเข้าซื้อหุ้นจำนวนมากในครั้งเดียวจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ จำนวน 138,387,052 หุ้น ในสัดส่วน 13.86% ทำให้เป็นผู้ถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 61.48%