ปูดหนี้เพิ่ม! เครดิตบูโร คอนเฟิร์มอีกยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านพุ่ง ในไตรมาส 1 ปีนี้

ปูดหนี้เพิ่ม! เครดิตบูโร คอนเฟิร์มอีกยอด ปฏิเสธ สินเชื่อบ้าน พุ่ง ในไตรมาส 1 ปีนี้

นายสุรพล โอภาเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว วิเคราะห์สถานการณ์สินเชื่อบ้าน และแนวโน้มหนี้เสีย ซึ่งเป็นข้อมูลในช่วงไตรมาส 1/2567 ที่สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรส่งเข้ามาในระบบ โดยพบว่า

* การขอสินเชื่อบ้าน : พบว่ามีสัดส่วนการถูกปฏิเสธสูงมาก โดย 100 ใบสมัคร จะผ่านการพิจารณาเบื้องต้นเพียง 50 ใบสมัครเท่านั้น เหตุเพราะมีการตรวจประเมินรายได้เข้มข้น เพราะสถาบันการเงินต้องการความแน่ใจว่าผู้ขอกู้มีศักยภาพที่จะกู้ได้จริง สามารถชำระหนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง จากนั้นต้องไปตรวจเครดิตบูโร โดยดูยอดหนี้ และประวัติการค้างชำระหนี้ เพื่อนำมาประเมินความตั้งใจในการชำระหนี้
* การเปิดบัญชีใหม่ของสินเชื่อบ้าน : พบว่าส่วนใหญ่คือ Gen Yและมีสัดส่วนสูงขึ้นทุกปี โดยกลุ่มหลัก คือ วงเงินสินเชื่อบ้านระดับที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท
* แนวโน้มการเปิดบัญชีใหม่สินเชื่อบ้านลดลง : ปี 2561 มีจำนวนเกินกว่า 4.3 แสนบัญชี ปี 2562 ก่อนโควิด อยู่ที่ระดับ 3.7 แสนบัญชี ปี 2566 อยู่ที่ 3.3 แสนบัญชี ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2567 ได้เพียง 5.9 หมื่นบัญชี ซึ่งแผ่วลง ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องยอดขาย เหตุเพราะลูกค้าขอกู้ไม่ผ่าน ซึ่งได้เสนอให้ลดเงื่อนไขในมาตรการ LTV ลง แต่ก็ยังไม่ได้รับการผ่อนปรน
* สถานการณ์ภาพรวมของสินเชื่อบ้าน พบว่า ไตรมาส 1/2567 หนี้เสียอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% สัดส่วนในหนี้เสีย (NPL) รวม (1.09 ล้านล้านบาท) ประมาณ 20% ถือว่าไม่น้อย ส่วนหนี้บ้านที่เริ่มค้างชำระ แต่ยังไม่เลย 90 วัน (SM) อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% ดีกว่าไตรมาส 4/2566 ที่เพิ่มขึ้น 31% ที่สำคัญคือ 1.2 แสนล้านบาท อยู่ในความดูแลของแบงก์รัฐ ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ จะมีความยืดหยุ่นและผ่อนปรนกว่าแบงก์พาณิชย์
* หากแยกดูข้อมูลให้ลึกลงไปในหนี้ของสินเชื่อบ้าน ทั้ง NPL ซึ่งหมายถึงหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน และ SM ซึ่งหมายถึงหนี้กำลังจะเสีย แต่ยังไม่ค้างชำระเกิน 90 วัน โดยจำนวนบัญชีแยกตามช่วงวัย (Generation) จะพบว่า ไตรมาส 1/2567 กลุ่ม Gen Y ถือสัญญาสินเชื่อบ้านที่เป็น NPL เท่ากับ 83,281 สัญญา คิดเป็นเงิน 1.24 แสนล้านบาท ในกรณีของ SM บ้านที่อยู่ในมือคน Gen Y ช่วงเวลาเดียวกันนี้มีจำนวน 76,276 สัญญา คิดเป็นเงิน 1.18 แสนล้านบาท

“คน Gen Y เป็นหนี้เสียบ้านกว่า 50% ของหนี้เสียบ้านทั้งหมด (1.24/2.0 แสนล้านบาท) และกว่า 50% ที่คน Gen Y เป็นหนี้กำลังจะเสียส่วนใหญ่ (1.18/1.8 แสนล้านบาท) คนวัยกำลังทำงานจะไปต่ออย่างไร ในบรรยากาศเศรษฐกิจโตต่ำ มีปัญหาให้แก้แทบทุกด้าน” นายสุรพล กล่าว

พร้อมเชิญชวนให้ไปฟังการบรรยาย เรื่อง หนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในมุมมองของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงาน Money Expo 2024 ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ เพื่อเป็นทางออกว่าต้องทำอย่างไร หากกำลังประสบกับปัญหาค้างชำระหนี้บ้านอยู่ในปัจจุบัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles