ป.ป.ช. ชี้พิธาขาดคุณสมบัติ ส.ส. เป็นหน้าที่ กกต. วินิจฉัย ล่าสุดอยู่ระหว่างตรวจสอบ

198
0
Share:
ป.ป.ช. ชี้ พิธา ขาดคุณสมบัติ ส.ส. เป็นหน้าที่ กกต. วินิจฉัย ล่าสุดอยู่ระหว่างตรวจสอบ

วันนี้ ( 9 มิ.ย.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยถึง การแจ้งบัญชีทรัพย์สินของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีการค้ำประกันเงินกู้ 460 ล้านบาท ว่าทาง ป.ป.ช. ได้มีการตรวจสอบพบว่า นายพิธาได้เคยยื่นการค้ำประกันเงินกู้เข้ามา 1 ก้อนมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นก้อนเดียวกันหรือไม่ ต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ยังไม่เคยมีใครร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามา

ทั้งนี้เมื่อมีการค้ำประกันแล้วไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินจะมีความผิดหรือไม่นั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่าการค้ำประกันถือว่ายังไม่มีหนี้ที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นเพียงสิทธิ์จากการกู้ยืมเงิน หากลูกหนี้ตัวจริงผิดนัดชำระก็จะไปเรียกจากคนค้ำประกันที่ต้องเป็นคนรัยผิดชอบ แต่ตอนนี้เป็นสิทธิของลูกหนี้กับผู้ค้ำประกันเท่านั้นเอง ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ ป.ป.ช. ต้องพิจารณาว่าจำเป็นต้องยื่นรายการนี้ด้วยหรือไม่ แต่การตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่านายพิธาเคยยื่นมา 1 บัญชีเกี่ยวกับการค้ำประกัน

ส่วนการยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือการยื่นค้ำประกันในลักษณะดังกล่าวหลังรับตำแหน่ง ส.ส. ต้องยื่นภายหลังหรือไม่ เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่าหากยื่นบัญชีทรัพย์สินไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมาแจ้ง เว้นแต่ยื่นในกรณีพ้นจากตำแหน่งภายใน 30 วัน เพรากฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าให้ยื่นเฉพาะรับตำแหน่ง กับพ้นตำแหน่งเท่านั้น แต่ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง หากมีความผิดปกติ ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่ต้องตรวจสอบที่มาของรายได้ และหนี้สิน

สำหรับการตรวจสอบดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เช่น ถ้ามีการยื่นบัญชีทรัพย์สินเข้ามาก็ต้องดูว่าเป็นทรัพย์สินจริงหรือไม่ เป็นของใคร ส่วนจะมีปัญหาในภายหลังหรือไม่ ตนยังตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของป.ป.ช.

เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีการถือหุ้นบริษัทไอทีวีของนายพิธาด้วยว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้นนั้นเป็นชื่อของนายพิธาจริง ถือครองหุ้นอยู่ 4.2 หมื่นหุ้นมูลค่า 4 หมื่นกว่าบาท ซึ่งต้องตรวจสอบอีกครั้งว่ายื่นมาในฐานะอะไร เนื่องจากว่ามีรายงานว่าเป็นผู้จัดการมรดก โดยตามกฎหมายหากเป็นเจ้าของก็ต้องยื่น ส่วนกรณีหากมีการยื่นในภายหลังอาจจะเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ก็ต้องดูที่เจตนาตนไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องมีเรื่องเจตนา และระยะเวลา ขณะที่การตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าได้ยื่นบัญชีดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นการยื่นเพิ่มเติมภายหลังเข้ารับตำแหน่งแล้ว ไม่ใช่เป็นการยื่นหลังมีประเด็นแล้ว ซึ่งการยื่นการถือหุ้นของนายพิธา มีระบุประเภทกิจการการอยู่ในใบหุ้นอยู่แล้ว

“หน้าที่หรือคุณสมบัติต้องห้าม ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช. มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการมีอยู่จริงของทรัพย์สิน ถ้ามีอยู่แล้วยื่นมาก็ถือว่าไม่ได้มีเจตนาปกปิด แต่ถ้ามีแล้วไม่ยื่น ก็ถือว่ามีเจตนาหรือจงใจปกปิด ส่วนหลังตรวจสอบแล้วบัญชีทรัพย์สินนั้นจะขัดกับคุณสมบัติการเป็น ส.ส. หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบของ กกต. ซึ่ง กกต. รับทราบและอยู่ระหว่างการพิจารณา” นายนิวัติไชย กล่าว