ป.ป.ช.สั่งฟันทุจริตโรงไฟฟ้าขนอม

1080
0
Share:

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสํานักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ที่ประชุม คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 ราย กรณีร่วมกันเรียกรับเงินจํานวน 20 ล้านบาท จากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่รับว่าจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้า และให้เรือลําเลียงเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายชิ้นส่วนของเครื่องกําเนิดไฟฟ้า โดยไม่ชอบ
.
พร้อมชี้มูลความผิด บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) รวมถึงผู้บริหาร ระดับสูงของบริษัทฯ อีกสองราย ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 4 รายในการกระทําความผิด
.
ซึ่งการไต่สวนข้อเท็จจริง มีการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ จากพยานหลักฐานข้อเท็จจริง พบว่าเมื่อปี พ.ศ. 2556 บริษัทค้าร่วม ประกอบด้วย บริษัท สัญชาติญี่ปุ่น และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ได้รับว่าจ้างให้ดําเนินการ ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ที่อําเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้า ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จํากัด หรือ KEGCO ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม EGCO Group ที่เป็นบริษัทเอกชนผู้ทําการผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
.
ต่อมา ในเดือน ก.พ. 2558 เรือลำเลียง 3 ลำไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเทียบท่าได้ เนื่องจากมีขนาดใหญ่เกินกว่า ท่าเทียบเรือที่จะรองรับได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย
1. นาวาโท สาธิต ชินวรณ์ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานครศรีธรรมราช
2. นายคณิน เมืองด้วง รองนายกเทศมนตรี ตำบลท้องเนียน
3.นายอภิชาติ สวัสดิรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลท้องเนียน
4.พ.ต.ท. สันติพงษ์ พันธ์สวัสดิ์ สารวัตรสถานีตำรวจน้ำ 4 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ ได้ร่วมกันเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากผู้แทนของบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่มาปฏิบัติงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อแลกกับการอนุญาตให้เรือลำเลียงชิ้นส่วนอุปกรณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากต่างประเทศสามารถเข้าเทียบท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้าได้ แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่เกินกว่ากำหนด
.
ขณะที่ผู้บริหารของบริษัท MHPS ตัดสินใจจ่ายเงินสินบน 20 ล้านบาท เพราะหากการขนส่งชิ้นส่วนเครื่องจักรเกิดการหยุดชะงักจะทำให้การก่อสร้างไม่ทันกำหนดเวลาการส่งมอบงาน และบริษัท MHPS จะต้องเสียค่าปรับตามสัญญาถึงวันละ 40 ล้านเยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 11 ล้านบาท ทั้งนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ซิโน-ไทย ฯ และผู้บริหารระดับสูงสองราย ได้แก่ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ และนายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการ ได้ให้ความช่วยเหลือในการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในการเรียกรับสินบนจากบริษัทญี่ปุ่น
.
โดยมีการจัดทำสัญญาที่ไม่มีการจ้างงานจริง เพื่อให้บริษัท ซิโน-ไทย จัดเตรียมสินบนเป็นเงินสด 20 ล้านบาท ต่อมาได้มอบเงินสินบนให้กับผู้แทนบริษัทญี่ปุ่นที่สำนักงานใหญ่ของ บริษัท ซิโน-ไทย และส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 4 ราย ทำให้ช่วงเวลาเดียวกันเรือลำเลียงก็สามารถเทียบท่าได้ แม้จะไม่มีการแก้ไขเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมเจ้าท่าแต่อย่างใด
.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิด ดังนี้ กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 ราย มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83
.
และสำหรับรายนายคณิน มีมูลเป็นความผิดอันเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งได้ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73 และส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐอีก 3 ราย มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
.
ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุน ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย รวมทั้งนายภาคภูมิ และนายราเกส กาเลีย มีมูลความผิดทางอาญา ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86