ผักไม่แพง! กรมการค้าภายในเผยราคาผักอยู่ในเกณฑ์ปกติ เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมต่อเนื่อง

181
0
Share:
ผักไม่แพง! กรมการค้าภายใน เผย ราคาผัก อยู่ในเกณฑ์ปกติ พร้อมเกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมต่อเนื่อง

นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และบางแห่งเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมการค้าภายในจึงได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์พืชผักในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ ตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งเป็นตลาดกลางค้าส่งผักขนาดใหญ่ โดยพบว่ามีปริมาณผักหมุนเวียนเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง ราคาพืชผักส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ปกติ และยังไม่พบความผิดปกติของการปรับตัวขึ้นลงของราคาผักดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกรณีพื้นที่จังหวัดที่ฝนตกหนักและน้ำท่วม ไม่ได้เป็นแหล่งผลิตพืชผักสำคัญ จึงไม่กระทบกับปริมาณผักที่เข้าสู่ตลาดมากนัก

กรมการค้าภานยใน ยืนยันว่าปริมาณผักมีเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยราคาขายปลีกผักสำคัญ ณ ตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2566 อาทิ ผักคะน้าราคา 40–45 บาท/กก. ถั่วฝักยาวราคา 35–40 บ./กก. กะหล่ำปลีราคา 30–35 บาท/กก. ผักกวางตุ้งราคา 30-35 บาท/กก. ผักกาดขาวราคา 30-35 บาท/กก. ต้นหอมราคา 60–70 บาท/กก. ผักชีราคา 130–150 บาท/กก. พริกขี้หนูจินดาราคา 60–80 บาท/กก. ผักบุ้งจีนราคา 35–40 บาท/กก.

อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะติดตามสถานการณ์ราคาพืชผักอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยมีเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดออกตรวจสอบอย่างต่อเนื่องในภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงที่ใกล้เข้าสู่เทศกาลกินเจ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ กรมฯ ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน หากไม่ปิดป้ายแสดงราคาการจำหน่ายสินค้า มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาเกินสมควรโดยเด็ดขาด หากตรวจพบจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบนโยบายให้กรมฯ ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร รวมถึงค่าครองชีพอย่างใกล้ชิด และดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้า เพื่อสร้างสมดุลทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ