ผู้ว่าแบงก์ชาติยอมรับรายได้ท่องเที่ยวต่ำกว่าคาด ห่วงเอกชนสตาร์ทลงทุนไม่ติด

208
0
Share:
ผู้ว่า แบงก์ชาติ ยอมรับรายได้ท่องเที่ยวต่ำกว่าคาด ห่วงเอกชนสตาร์ทลงทุนไม่ติด

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ กล่าวเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ ว่าเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวออกมาจริงในไตรมาสที่ 2 ซึ่งโตเพียง 1.8% ทำให้ต่ำกว่าเป้าหมายของแบงก์ชาตินั้น หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในเดือนกันยายนนี้ แบงก์ชาติจะปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง สำหรับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักยังเป็นการท่องเที่ยวที่รายได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ใช้จ่ายน้อยลง แต่ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวยังคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 29 ล้านคน

ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภาคเอกชนที่ดีขึ้นต่อเนื่อง รายได้และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยในไตรมาสที่ 2 การใช้จ่ายของภาคเอกชนไทยเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนถึง 7.8% ที่น่าสนใจ คือ เฉพาะครึ่งแรกของปีนี้โตสูงสุดในรอบ 20 ปี

แต่สิ่งที่กังวลอยู่ยังเป็นภาคการส่งออก ซึ่งต้องลุ้นว่าจะปรับดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก ที่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ต่อเนื่องปีหน้าหรือไม่ ยังมีอีกประเด็นที่เป็นห่วงมาสักระยะหนึ่งแล้ว คือการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเครื่องยนต์นี้เหมือนสตาร์ตไม่ค่อยติด แต่เป็นเครื่องยนต์ที่จำเป็นมากสำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะเมื่อเราอยู่ในเศรษฐกิจที่เข้าสู่ช่วงสูงวัย แรงงานน้อยลง การทำให้เศรษฐกิจโตได้มาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งทำได้จากการลงทุนเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศมีน้อยลง ทำให้ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร ถึงจะเพิ่มมูลค่าการลงทุนที่จะเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจ จะสร้างเสน่ห์อย่างไรให้ต่างชาติสนใจอยากลงทุน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ กล่าวเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของแบงก์ชาติในขณะนี้ว่า ดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้จุดสมดุลของเศรษฐกิจไทยแล้ว เหลืออีกนิดเดียว หากถามว่าจุดสมดุลของดอกเบี้ยอยู่ที่ตรงไหน ธปท.จะดู 3 เรื่อง คือ จะต้องเป็นภาวะดอกเบี้ยที่ช่วยให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3% ได้อย่างยั่งยืน ต่อมาคือ เป็นดอกเบี้ยที่ไม่กดดันเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพที่ 3-4% ต่อปี ไปเรื่อยๆไม่สะดุด และสุดท้าย คืออัตราดอกเบี้ยจะต้องไม่กระทบให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพ เช่น การแสวงหาผลตอบแทนสูงจากการลงทุนเสี่ยง หรือการกู้หนี้ยืมสินจนเกินตัว เพราะหนึ่งในปัญหาขณะนี้ของคนไทยคือหนี้ครัวเรือนสูงมาก