ผู้ว่าแบงก์ชาติรับบาทผันผวนมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจ

190
0
Share:
ผู้ว่า แบงก์ชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย รับ เงินบาท ผันผวนมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่กระทบเสถียรภาพ เศรษฐกิจ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 66 ที่อ่อนค่าในระดับ 37 บาท/ดอลลาร์ ยอมรับว่าค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า, ความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน และราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยมีความสัมพันธ์กับปัจจัยดังกล่าวอย่างมาก

โดยผู้ว่า ธปท. ระบุว่าไม่ได้ต้องการให้ค่าเงินมีความผันผวนสูง เพราะจะกระทบกับภาคธุรกิจต้องปรับตัว แต่ว่าค่าเงินบาทที่อ่อนลงในภาพรวม ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ เพราะไทยยังมีภูมิคุ้มกันในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 และ 2567 คาดว่าจะเกินดุลจากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่

อย่างไรก็ตาม ธปท. ยืนยันว่าไม่มีมาตรการหรือนโยบายที่จะเข้าไปฝืนกลไกตลาด โดยเฉพาะการเข้าไปกำหนดระดับของค่าเงิน เป็นเรื่องที่ไม่มีใครจะมากำหนดได้ ไม่มีและไม่ทำแน่นอน เพราะจะเป็นความเสี่ยงมาก ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาความผันผวนที่มาจากปัจจัยพื้นฐาน และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด จะไม่เข้าไปทำอะไรที่สวนกลไกตลาดอย่างแน่นอน ซึ่งล่าสุดเงินบาทที่อ่อนลงก็มาจากดอลลาร์ที่แข็งค่า ก็เป็นปัจจัยที่ต้องเข้าไปดูแล

ขณะที่ทองคำที่ผ่านมาไม่ได้เห็นมีการนำเข้ามาก อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวในรูปของราคาทองมากกว่า หากทองเคลื่อนไหว เงินบาทก็เคลื่อนไหวตาม ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้าย ตั้งแต่ต้นปีพบว่าไหลออก 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ก็เป็นไปตามสภาวะตลาดโลกที่ไม่ได้อยู่ในช่วงที่เอื้อให้เกิดการลงทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่มีหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ไม่ได้มีมาก จึงไม่มีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการทำนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการตัดสินใจในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ผ่านมามีกรอบการดำเนินการที่ชัดเจน วิธีการทำงานก็มีทั้งกรรมการจากภายในและภายนอก จึงมีอิสระในการตัดสินใจ แม้ว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อจะต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง แต่วิธีการไปให้ถึงเป้าหมายเป็นเรื่องของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)