พลิกอ่อนค่า ! เงินบาท วันนี้อ่อนค่าหลังรายงานการประชุมเฟดยืนยันจะไม่รีบลดดอกเบี้ย

120
0
Share:

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาท เปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.87 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.85 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.80-36.05 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง แกว่งตัวในช่วง 35.80 – 35.95 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งกดดันโดยจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรายงานการประชุมเฟดล่าสุด ยังคงย้ำว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย

ภาพดังกล่าวยังได้กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง และเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงตาม อย่างไรก็ดี รายงานผลประกอบการของบริษัท Nvidia ล่าสุดที่ออกมาแข็งแกร่ง และคาดการณ์ผลประกอบการที่มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าคาด ก็อาจส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) สอดคล้องกับสัญญาฟิวเจอร์สตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้นพอสมควร ซึ่งภาวะเปิดรับความเสี่ยงดังกล่าวอาจกดดันให้เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways หรือ ย่อตัวลงได้บ้างในช่วงนี้  

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทยังไม่เปลี่ยนมุมมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่านั้นแผ่วลง แต่ด้วยปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยิ่งเชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย ก็อาจทำให้เงินบาทมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง แต่มองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทนั้นจะเป็นไปอย่างจำกัด หลังเงินบาทได้พลิกกลับมาแข็งค่าหลุดแนวรับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ อาจมีลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ แต่ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง)

นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชียที่อาจกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง จากทั้งความหวังแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึง รายงานผลประกอบการของ Nvidia ที่ออกมาสดใสล่าสุด ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อสกุลเงินฝั่งเอเชียได้บ้าง ซึ่งต้องจับตาว่า นักลงทุนต่างชาติจะเดินหน้าเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องได้หรือไม่ โดยเบื้องต้นเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นผ่านโซนแนวรับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่าย หากไม่มีปัจจัยหนุนการแข็งค่าใหม่ๆ ที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต และภาคการบริการของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก เพราะอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้ โดยต้องจับตาว่า รายงานดัชนี PMI ดังกล่าวจะส่งผลให้ ธนาคารกลางหลักอื่นๆ อาทิ BOE และ ECB สามารถลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าเฟด หรือไม่ (ล่าสุดผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน)