พาณิชย์ขอความร่วมมือผุ้ประกอบการช่วยตรึงราคาสินค้า อย่าเพิ่งขึ้นราคา หลังน้ำมันดีเซลปรับขึ้น

95
0
Share:
พาณิชย์ ขอความร่วมมือผุ้ประกอบการช่วยตรึง ราคาสินค้า อย่าเพิ่งขึ้นราคา หลังน้ำมันดีเซลปรับขึ้น

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล ภายหลังจากสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาไม่เกินลิตรละ 30 บาทของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 67 ว่ากรมจะติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดมากขึ้น หลังจากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นราคา และได้ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิต ยังคงตรึงราคาขายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาเดิมต่อไป เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งได้รับคำยืนยันจากผู้ผลิตยินดีจะให้ความร่วมมือเต็มที่

โดยน้ำมันดีเซล คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของต้นทุนการขนส่ง แต่มีสัดส่วนเล็กน้อยในต้นทุนการผลิต ดังนั้น การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล จึงยังไม่มีผลทำให้ราคาขายสินค้าต้องขยับขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตสินค้าก็รับปากจะตรึงราคาขายเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน และจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อกระตุ้นการซื้อ” นายวัฒนศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้า ห้างค้าส่งค้าปลีก ฯลฯ เพิ่มปริมาณการสำรองสินค้าให้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวจำนวนมาก พร้อมกับให้นำสินค้ามาหมุนเวียนจัดโปรโมชันลดราคาขายอย่างต่อเนื่องด้วย

ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้น จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ไม่มากนัก โดยคาดการณ์ว่าหากดีเซลปรับขึ้นลิตรละ 1 บาท จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 0.08% และหากปรับขึ้น 2 บาท เงินเฟ้อจะปรับขึ้น 0.15% ส่วนกรณีที่ สนค. ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ใหม่ เป็นเพิ่มขึ้น 0.0-1.0% มีค่ากลาง 0.5% จากเดิมที่คาดติดลบ 0.3% ถึงบวก 1.7% ค่ากลาง 0.7% นั้น ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาดีเซล

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ครัวเรือนไทยมีภาระค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับสูง โดยเดือน มี.ค. 67 อยู่ที่ 18,034 บาท เพิ่ม 6 บาทจากเดือน ก.พ. 67 ที่อยู่ที่ 18,028 บาท โดยสัดส่วนมากถึง 58.65% เป็นค่าใช้จ่ายในหมวดสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และอีก 41.35% เป็นหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ โดยค่าใช้จ่ายสูงสุด คือค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ 4,205 บาท ตามด้วย ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 4,003 บาท

นอกจากนี้ ยังมีค่าอาหารบริโภคในบ้าน ดีลิเวอรี่ 1,651 บาท, เสื้อสัตว์ เป็ด ไก่ สัตว์น้ำ 1,629 บาท, อาหารบริโภคนอกบ้าน ฟาสต์ฟูดต่างๆ 1,260 บาท, ค่าแพทย์ ยา และค่าบริการส่วนบุคคล 984 บาท, ผัก ผลไม้ 976 บาท, ค่าหนังสือ สันทนาการ เล่าเรียน และการกุศล 765 บาท, ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์ 704 บาท, เครื่องปรุงอาหาร 430 บาท, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 407 บาท, ไข่และผลิตภัณฑ์ 400 บาท, ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า 375 บาท, บุหรี่ เหล้า เบียร์ 244 บาท

มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาทสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 67 ส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันแบรนด์ต่างประเทศ ขยับราคาขึ้นแล้ว