พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ติดลบร้อยละ 2.99 หดตัวแรงที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน

862
0
Share:

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนเดือนเม.ย. 2563 พบว่า อัตราเงินเฟ้อติดลบร้อยละ 2.99 หดตัวแรงที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการลดลงของกลุ่มพลังงาน

โดยจากปัจจัยผลกระทบดังกล่าว ทำให้หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวสูงขึ้นทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะอาหารสด อาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง
.
ด้านกลุ่มพลังงานมีการปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกและการลงทุนที่ชะลอตัวลง และมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมการจับจ่ายของประชาชน รายได้ของภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว การขนส่ง ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก รวมถึงการผลิตปรับตัวลดลง
.
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้เงินเฟ้อปีนี้จะติดลบร้อยละ 0.2-1 ซึ่งจากการประเมินภาพรวมเงินเฟ้อเดือนพ.ค.นี้ยังมีโอกาสติดลบแต่ไม่มาก ส่งผลให้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งตามสูตรคำนวณเงินเฟ้อหากติดลบติดต่อเช่นนี้จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ข้อเท็จจริงเงินฝืดจะเกิดจากภาวะสินค้าโดยรวมต้องลดลงมาก
.
แต่ขณะนี้สินค้าอุปโภคและบริโภครวมถึงสินค้าภาคการเกษตรไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด อยู่ในภาวะทรงตัว ทำให้มองว่าแม้เงินเฟ้อจะติดลบติดต่อกันก็เป็นเพียงจากปัจจัยผลกระทบจากโควิด-19 และราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงไปมาก
.
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 ยังมีโอกาสติดลบไปถึงร้อยละ 2.28 แต่น่าจะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 หลังจากแนวโน้มการดูแลควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่สามารถจัดการดูแลได้เป็นอย่างดี จะทำให้การเปิดดำเนินธุรกิจทำได้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับแนวทางกระตุ้นภาคธุรกิจของรัฐบาลที่จะออกมาน่าจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศกลับมาดีขึ้น และประชาชนหันมาจับจ่ายใช้สอยในระบบเพิ่มมากขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4 จะกลับมาดีขึ้นเช่นกัน