“พิพัฒน์” ยืนยันขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแน่ภายในปี 67 แต่ต้องไม่กระทบภาคนายจ้าง ต้องผ่านกลไก

312
0
Share:
“พิพัฒน์” ยืนยันขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ แน่ภายในปี 67 แต่ต้องไม่กระทบภาคนายจ้าง ต้องผ่านกลไก

วันนี้ (15 กันยายน 2566) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้เดินทางมาที่ ส.อ.ท. เนื่องจาก ส.อ.ท. เป็นตัวแทนภาคเอกชนที่มีความเข้าใจในปัญหาแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรมเพื่อที่จะรับทราบข้อคิดเห็นโดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามแนวนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ตามการปรับค่าแรงขั้นต่ำ จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนภายในปี 2567 แต่จะต้องไม่กระทบภาคนายจ้างซึ่งฝ่ายลูกจ้างเองก็ได้มีการหารือมาบ้างแล้ว ส่วนการนำเข้าแรงงานเพื่อนบ้านนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนคงจะต้องหารือก่อนเพื่อหาข้อสรุป

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงานเห็นตรงกันว่าจะไม่ปรับค่าแรงเป็น 400 บาท/วัน แต่จะพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำตามอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือGDP ขั้นต่ำอยู่ 2% ความเดือดร้อนของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและผลิตภาพแรงงาน หรือจ่ายค่าแรงตามทักษะฝีมือแรงงานหรือ Pay by skill ผ่านอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยดังกล่าว คาดจะหารือกับคณะไตรภาคีได้ข้อสรุปไม่เกิน พฤศจิกายน ก่อนประกาศใช้อัตราใหม่ 1 มกราคม 2567

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีการขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมกำลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ และต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล โดยเราได้ทำการวิเคราะห์และพบว่าการจะทำให้อุตสาหกรรมอยู่รอด สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ 1) เปลี่ยนจาก OEM (ผู้รับจ้างผลิต) เป็น ODM (ผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัท) และ OBM (ผู้ผลิตภายใต้รูปแบบและตราสินค้าของตนเอง) 2) เปลี่ยนจากใช้แรงงานเป็นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องจักร และระบบ Automation 3) เปลี่ยนจากผลิตเพื่อกำไร เป็นการผลิตควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม และ 4) เปลี่ยนจากแรงงานไม่มีฝีมือ (Unskilled labor) เป็นแรงงานที่มีฝีมือขั้นสูง (High-skilled labor) ผ่านการเสริมสร้างทักษะ

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานแรงงาน ได้กล่าวถึงข้อเสนอด้านแรงงานที่ต้องการให้กระทรวงแรงงานช่วยผลักดัน ประกอบด้วย 8 ประเด็นหลักๆ อาทิการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทย

ส่งเสริมและพัฒนา SMEs ในการนำระบบ Automation มาปรับใช้ , จัดทำฐานข้อมูล (Big Data) ที่ทันสมัย ถูกต้องแม่นยำและครบถ้วน , แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและจ้างงานแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน และค่าใช้จ่าย เพื่อลดภาระผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว แก้ไขปัญหาประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น