พี่มัสก์จัดอีก! ปลดพนักงานสัญญาจ้างทวิตเตอร์ทั่วโลกกว่า 4,400 คน เกือบ 80% ของทั้งหมด

238
0
Share:
พี่มัสก์จัดอีก! ปลดพนักงาน สัญญาจ้าง ทวิตเตอร์ ทั่วโลกกว่า 4,400 คน เกือบ 80% ของทั้งหมด

นายนายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทสลา อินคอร์ปอเรชั่น และในปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของทวิตเตอร์ อินคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ได้สั่งปลดพนักงานว่าจ้างแบบสัญญาจ้างจำนวน 4,400 คน หรือ 80% ของพนักงานสัญญาจ้างที่มีอยู่ทั้งหมด 5,500 คนทั่วโลก

พนักงานสัญญาจ้างของทวิตเตอร์ที่ถูกปลดออกอย่างกระทันหันในครั้งนี้ เปิดเผยว่า ไม่มีการส่งอีเมล์ หรือเอกสารใดๆ แจ้งให้พนักงานสัญญาจ้างเป็นการล่วงหน้าแต่อย่างใด นอกจากนี้ พนักงานสัญญาจ้างที่ทำงานในต่างประเทศ เช่น อินเดีย ก็ต้องยุติการทำงานอย่างกระทันหันและถูกเลิกจ้างด้วย

สิ่งสำคัญคือ มีคำสั่งปลดพนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กรภายในบริษัททวิตเตอร์ด้วย ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนพนักงานในสายงานดังกล่าวอย่างชัดเจน

การปลดพนักงานสัญญาจ้างทวิตเตอร์ถึง 80% ของพนักงานสัญญาจ้างในครั้งนี้ เป็นมาตรการต่อเนื่องจากการปลดพนักงานครั้งใหญ่ถึง 3,700 คนเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านไปของนายอีลอน มัสก์ เจ้าของแต่เพียงเดียวคนใหม่ของทวิตเตอร์ที่ซื้อกิจการเสร็จสมบูรณ์แบบด้วยมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.76 ล้านล้านบาท

นายแจ็ค ดอร์ซี ผู้ก่อตั้ง และผู้ถือหุ้นรายเล็กในทวิตเตอร์ อินคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ต้องขอโทษต่อผู้ถือหุ้นและพนักงานทุกคนด้วยเหตุผลว่าทำให้ทวิตเตอร์ขยายตัวเร็วเกินไป จากข้อมูลเมื่อ 30 มิถุนายน 2013 ซึ่งเป็นช่วงไม่นานนักก่อนที่ืทวิตเตอร์จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา พบว่าในช่วงนั้นมีพนักงานเพียง 2,000 คน ในขณะที่ถึงสิ้นปีผ่านไป ทวิตเตอร์มีพนักงานประจำรวมทั้งสิ้น 7,500 คน หรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3.8 เท่าใน 9 ปีผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายอีลอน มัสก์ ได้พูดคุยกับพนักงานทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการ และเป็นครั้งแรกภายในสำนักงานใหญ่ที่เมืองซาน ฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งทวิตเตอร์มีพนักงานเหลืออยู่เพียงครึ่งหนึ่ง หรือกว่า 3,700 คน ว่า ไม่ได้มองข้ามภาวะล้มละลายที่จะเกิดขึ้นกับทวิตเตอร์ ถ้าหากทวิตเตอร์ไม่รีบสร้างรายได้ให้เร็วที่สุด

อีลอน มัสก์ กล่าวกับพนักงานในแง่การหารายได้ว่า จะต้องหารายได้จากค่าสมาชิกที่สมัครใช้บริการทวิตเตอร์บลูที่ 8 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 304 บาทต่อหนึ่งบัญชี

ขณะนี้ อีลอน มัสก์ ได้ใช้เงินส่วนหนึ่งซึ่งเป็นเงินกู้มูลค่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 494,000 ล้านบาทจากธนาคารชั้นนำ 7 แห่งในสหรัฐอเมริกา มาทำการซื้อกิจการทวิตเตอร์ ทำให้ทวิตเตอร์ อินคอร์ปอเรชั่น มีภาระหนี้เกิดขึ้นกว่า 494,000 ล้านบาททันที นักการเงินที่เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อย ประเมินว่าผลจากการใช้เงินกู้จำนวนดังกล่าวมาซื้อกิจการทวิตเตอร์ จะทำให้มีมูลค่าหนี้รวมดอกเบี้ยตกปีละ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 45,600 ล้านบาท

ด้านผู้เชี่ยวชาญการเงินในวงการธุรกิจเทคโนโลยี ประเมินว่า การเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.67 ล้านล้านบาท และเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วง 2 สัปดาห์ผ่านมาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินธุรกิจภายใต้การนำของนายอีลอน มัสก์ เจ้าของคนใหม่แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งกระทบต่อการสร้างรายได้โฆษณาอย่างมาก หลังจากบรรดาแบรนด์สินค้ายักษ์ใหญ่จากหลายอุตสาหกรรมล้วนพากันถอนการลงโฆษณาเป็นการชั่วคราว

นอกจากนี้ ยังเกิดความสั่นคลอนอย่างรุนแรงในระดับฝ่ายบริหารระดับสูงที่ถูกนายอีลอน มัสก์ ปลดออกทั้งซีอีโอ ซีเอฟโอ และอื่นๆ รวมถึงการสั่งปลดพนักงานทวิตเตอร์มากถึง 50% ของพนักงานทั้งหมดทั่วโลก หรือตกงานถึง 3,700 คน นอกจากนี้ อีลอน มัสก์ ยังได้ประกาศให้พนักงานที่เหลืออยู่กลับเจ้าทำงานในสำนักงาน โดยยุตินโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นจากที่บ้าน หรือจากที่อื่นๆ รวมถึงสั่งให้พนักงานต้องมีชั่วโมงทำงานถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ห้ามน้อยไปกว่าที่กำหนดไว้ สั่งให้มีการลดจำนวนการจัดอาหารฟรีบริการให้กับพนักงานเหมือนในช่วงที่ผ่านมา หากพนักงานที่เหลืออยู่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใหม่ ทวิตเตอร์ยินดีรับการลาออกของพนักงานตลอดเวลา