ฟื้นจริงแล้ว! 9 สายการบินยื่นขอจดทะเบียนใหม่ การันตีอุตสาหกรรมการบินไทยฟื้นตัว

172
0
Share:

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการบินในไทยตอนนี้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ในด้านของผู้ประกอบการการบินยังตื่นตัวกลับมาให้บริการ โดยในปี 2566 มีผู้ประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตกิจการการบินพลเรือน เป็นผู้ประกอบการรายใหม่รวมจำนวน 9 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) เพื่อให้สามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ต่อไป

โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจการบินที่ต้องการยื่นคำขอจดทะเบียนในไทยจำนวนมาก ซึ่งตามกระบวนการต้องยื่นคำขอพิจารณาเพื่อจัดทำใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) และทำใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) โดยทั้งสองส่วน กพท.จะพิจารณาทั้งแผนธุรกิจ สถานะทางการเงิน รวมไปถึงหลักเกณฑ์มาตรฐานบริการที่จะมีผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดกรณีลอยแพผู้โดยสาร

อย่างไรก็ตามขณะที่ภาพรวมของผู้ประกอบการสายการบินที่จดทะเบียนในไทย กพท.ยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีสายการบินใดที่เข้าข่ายธุรกิจ หรือสถานะทางการเงินที่จะส่งผลต่อการปิดกิจการ และส่งผลต่อผู้โดยสาร แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาหลายสายการบินจะปรับลดต้นทุนดำเนินธุรกิจ ขายและคืนเครื่องบินจำนวนมาก แต่ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณบวก หลายสายการบินทยอยรับมอบเครื่องกลับมาให้บริการ และมีฐานะทางการเงินดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กพท.ประเมินว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินที่เกิดขึ้นในขณะนี้ใกล้เคียงกลับสู่สถานการณ์ปกติก่อนเกิดโควิด -19 โดยพบว่าปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารฟื้นตัว 90% จากปี 2562 ที่มีจำนวนประมาณ 160 ล้านคน ขณะที่ตลอดทั้งปี 2566 กพท.คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารรวม 127 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 63.03 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ ประมาณ 64.43 ล้านคน

ส่วนแนวโน้มในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน จะมีปริมาณผู้โดยสารกลับสู่สภาวะปกติ โดยประเมินตัวเลขอยู่ที่ 162 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 88.62 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ ประมาณ 74.05 ล้านคน

สำหรับ 9 สายการบินยื่นขอจดทะเบียนใหม่นั้น ประกอบด้วย
1. บริษัท เอเชี่ยน แอร์โรสเปซ เซอร์วิส จำกัด โดยได้รับอนุญาตให้ทำการบินตั้งแต่ 16 ต.ค. 2564–15 ต.ค. 2569 ประเภทการบินแบบไม่ประจำ
2. บริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 3 พ.ค. 2566–2 พ.ค. 2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ
3. บริษัท อาร์ ซี แอร์ไลนส์ จำกัด (Really Cool) ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 18 ก.ค. 2566–17 ก.ค. 2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ
4. บริษัท อวานติ แอร์ ซาร์เตอร์ จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 27 ก.ค. 2566–26 ก.ค. 2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ
5. บริษัท เอ็ม – แลนดาร์ซ จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 27 ก.ค. 2566–26 ก.ค. 2571 ลักษณะคำขอทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ
6. บริษัท กรุงเทพเฮลิคอปเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด ปัจจุบันได้รับ AOC แล้ว โดยมีระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 23 ส.ค. 2566–22 ส.ค. 2571 โดยทำคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ
7. บริษัท พัทยา แอร์เวย์ จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 28 ส.ค. 2566–27 ส.ค. 2571 ลักษณะคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ โดยเป็นคำขอทำการบินสำหรับการขนส่งเฉพาะสินค้าเท่านั้น 8. บริษัท เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ส จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 29 ส.ค. 2566–28 ส.ค. 2571 โดยทำคำขอประเภทการบินแบบประจำมีกำหนด
และ 9. บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด ยื่นทำคำขอจดทะเบียน 2 รายการ ได้รับระยะเวลาอนุญาตทำการบิน 31 ส.ค. 2566–30 ส.ค. 2571 โดยจะทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ