ฟื้นจากโควิด! กรุงศรีประเมินเศรษฐกิจไทยปี 66 จะขยายตัวได้ 3.6% ด้วยแรงหนุนท่องเที่ยว

178
0
Share:
ฟื้นจากโควิด! กรุงศรี ประเมิน เศรษฐกิจไทย ปี 66 จะขยายตัวได้ 3.6% ด้วยแรงหนุนท่องเที่ยว

วิจัยกรุงศรี บทวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน (ฉบับพิเศษ) เปิดเผยทิศทางเศรษฐกิจปี 2566 ว่า จะเป็นปีแรกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของ ไทยสามารถกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะยังเติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 จากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เติบโตจากการจ้างงานที่ปรับดีขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว การลงทุนที่ยังมีสัญญาณเชิงบวกอยู่บ้างจากการฟื้นตัวของภาคบริการ ความต่อเนื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างไรตามการลงทุนในบางอุตสาหกรรมและการส่งออกในภาพรวมจะเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น การเติบโตต่ำของเศรษฐกิจจีน สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

โดยการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวนับเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย แม้ในปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศ และการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ หนุนให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางระยะใกล้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวหลักจากจีนอาจฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้คาดว่าในปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 25-28 ล้านคน แม้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบเท่าตัวแต่ยังคงต่ำกว่า

การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องปัจจัยหนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่กระเตื้องขึ้น ตลาดแรงงานมีแนวโน้ม ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม การบริโภคของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอาจมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น และการลดลงของมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายจากภาครัฐ สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้จากการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แม้ว่าการลงทุนอาจเผชิญข้อจำกัดจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว และภาวะต้นทุนทางการเงินที่ปรับสูงขึ้นตามทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังมีสัญญาณเชิงบวกจากข้อมูลการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ (FDI) โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC โดยนักลงทุนให้ความสนใจในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวซึ่งยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบภายนอกทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและหลายประเทศเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของธปท.ได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 จึงคาดว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยจะไม่เข้มงวดมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยคาดการณ์ว่าธปท.จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นสู่ระดับร้อยละ 1.75 และจะคงไว้ที่ระดับดังกล่าวตลอดจนถึงสิ้นปี ด้านค่าเงินบาทคาดว่าจะยังคงเผชิญความผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศแกนหลักและนโยบายคุมโควิด-19 ของจีน รวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วของประเทศมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นเนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 กลับมาเกินดุลได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี