ภูฏานหวั่นทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอ จ่อยกเลิกนำเข้าสินค้าต่างชาติ

540
0
Share:

นายล็อคนาท ชาร์มา รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ประเทศภูฏาน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้พิจารณามาตรการที่สำคัญอย่างจริงจังในการบริหารจัดการไม่ให้เกิดภาวะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง หลังจากที่รัฐบาลประเทศภูฏานติดตามผลกระทบที่ทำให้ปริมาณเงินตราต่างประเทศในทุนสำรองดังกล่าวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ประเทศภูฏาน ไม่ได้ระบุรายละเอียดในการใช้มาตรการที่ชัดเจน

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศเพิ่มเงินโบนัสจากเดิม 1% เป็น 2% ให้กับประชาชนในแต่ละครั้งที่ได้รับเงินตราต่างประเทศส่งกลับจากแรงงานภูฏานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า เป็นการดึงดูดเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศภูฏาน

ธนาคารกลางประเทศภูฏาน เปิดเผยว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2021 ลดลงมาอยู่ที่ที่ระดับ 970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 35,890 ล้านบาท จากเดิมที่เคยมีอยู่สูงถึง 1,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 54,020 ล้านบาทเมื่อเดือนเมษายนปี 2021 หรือลดลงมากถึง 33.6%

ในเวลาเดียวกัน หนี้ต่างประเทศของรัฐบาลภูฏานเพิ่มขึ้นจาก 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 99,900 ล้านบาทในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 มาเป็น 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 118,400 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18.5% ปัจจุบันประเทศภูฏานมีหนี้คงค้างต่างประเทศกับประเทศอินเดียและจีนรวมมูลค่า 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 81,400 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีหนี้คงค้างกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย รวมกันเป็นมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 37,000 ล้านบาท

สำหรับช่องทางรายได้เข้าประเทศภูฏานในแง่การส่งออกและการนำเข้านั้น พบว่า เมื่อปี 2020 ปริมานำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดิม 6,664 ล้านงุลตรัม หรือกว่า 3,055 ล้านบาท มาเป็น 9,023 ล้านงุลตรัม หรือ 1,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 41,810 ล้านบาทในปี 2021 ในขณะที่การส่งออกกลับลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดการค้าขาดดุลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึง 32,230 ล้านงุลตรัม หรือ 404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 14,948 ล้านบาท

สิ่งสำคัญ คือภูฏานเป็นประเทศนำเข้าพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันดิบสุทธิตลอดเวลา ท่ามกลางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีราคาแพงและผันผวน ส่งผลให้ต้องใช้จ่ายเงินสั่งซื้อน้ำมันดิบมากขึ้นกว่าปกติที่ผ่านมา นอกจากนี้ สินค้าน้ำมันดิบคิดเป็นเกือบ 20% ของสินค้านำเข้าทั้งหมดของภูฏาน ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญกลับหดหาย และไม่ฟื้นตัวในช่วง 2 ปีกว่าของการระบาดของโรคโควิด-19 มาถึงปัจจุบัน โดยประเทศภูฏานจะเปิดพรมแดนประเทศในเดือนกันยายนนี้

อย่างไรก็ตาม สื่อวิทยุของรัฐบาลภูฏานที่มีชื่อว่า บีบีเอส หรือ Bhutan Broadcasting Service ได้เปิดเผยการชี้แจงขิงนายกรัฐมนตรีภูฏานเกี่ยวกับมาตรการ 3 ระยะในการบริหารจัดการสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 รัฐบาลจะประกาศยกเลิกการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าอาหารที่ไม่จำเป็น เช่น อาหารประเภทสแน็ค ขนมขบเคี้ยว ระยะที่ 2 จะประกาศยกเลิกนำเข้าสินค้าประเภทอาหารที่สำคัญในหลากหลายกลุ่มมากขึ้น และระยะสุดท้ายจะประกาศให้สามารถนำเข้าเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็นเท่านั้น

ทั้งนี้ นายล็อคนาท ชาร์มา รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ประเทศภูฏาน ยืนยันว่า มูลค่าทุนสำรองประเทศในปัจจุบันอาจสามารถใชสั่งซื้อสินค้านำเข้าได้ 15 เดือน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ว่าต้องมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศครอบคลุมการนำเข้าสินค้าได้อย่างน้อย 12 เดือน