มหาเศรษฐี-คนรวยหันลงทุนหุ้นในบริษัทที่ยังไม่เข้าตลาดหุ้น ลดเสี่ยงยุคผันผวนแรง

300
0
Share:

ธนาคารยูบีเอส ซึ่งเป็นธนาคารชั้นนำระดับโลกในสวิสเซอร์แลนด์ เปิดเผยว่า ครอบครัวมหาเศรษฐีที่มีมูลค่าความร่ำรวยสูงอันดับต้นๆ ของโลก เปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนจากการลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น ซื้อหุ้นบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น ตราสารหนี้ เป็นต้น ด้วยการเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทที่ยังไม่ได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือ Private Equity

สาเหตุจาก ปัจจัยการเร่งขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้น และการยุติมาตรการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลในระบบการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลก ความผันผวนอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นกับภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงเงินเฟ้อพุ่งสูง ผลตอบแทนของการลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ในช่วงกว่า 1 ปีผ่านมา ที่ค่อนข้างหยุดนิ่งหรือแทบไม่หวือหวา เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิมก่อนที่ตัวเลขเงินเฟ้อจะเริ่มถีบตัวสูงขึ้นในรอบหลายทศวรรษ

ธนาคารยูบีเอส กล่าวว่า จากการสำรวจครอบครัวมหาเศรษฐีจำนวน 221 ครอบครัว ที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันกว่า 493,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 17.26 ล้านล้านบาท พบว่า การลงทุนดังกล่าวของครอบครัวมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 2019 และปี 2021 โดยสัดส่วนการลงทุนในบริษัทที่ยังไม่ได้เข้าตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นจากเดิม 10% ในปี 2020 มาเป็น 13% ในปีผ่านมา ในขณะที่ไปลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์คงที่จากเดิม 8% มาเหลือ 7% ในปี 2564

สินทรัพย์คงที่ หรือ Fixed Asset มีสัดส่วนการลงทุนลดลง 2% จากเดิมในปี 13% ในปี 2563 ลดลงมาเหลือ 11% ในปีผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของมหาเศรษฐีนั้น พบว่า ลดสัดส่วนการลงทุนลงมาอยู่ที่ 12% ในปี 2564 จากที่เคยมีสัดส่วนราว 13% ในปี 2563

ทั้งนี้ 81% ของครอบครัวมหาเศรษฐี พบว่า ลงทุนเงินบางส่วนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการเรียนรู้เทคโนโลยีการเงินดิจิทัล และสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในสินทรัพย์เดิม

ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่มีชื่อว่า Schroders Investment Management เปิดเผยว่าสินทรัพย์การลงทุนประเภท Private Equity เป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากทั่วโลกและกระจายอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ในสหรัฐอเมริกามีจำนวนบริษัทกว่า 27 ล้านแห่ง แต่มีเพียง 1% เท่านั้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ยังมีบริษัทที่อยู่นอกตลาดอยู่อีกมากที่มีศักยภาพสูง ไม่เพียงในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ธุรกิจเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วโลกทั้งในยุโรปและเอเชีย และต้องการเงินทุนในการพัฒนาหรือขยายขนาดธุรกิจให้เติบโตขึ้น จึงเป็นโอกาสให้กองทุนสามารถเข้าไปร่วมลงทุน