มีปัจจัยกดดัน! ราคาที่ดินเปล่า ไตรมาส 2 ชะลอตัว2.4% ผู้ประกอบการเบรกซื้อ

170
0
Share:

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผยว่าดัชนี ราคาที่ดินเปล่า ก่อนการพัฒนา ในกรุงเทพฯปริมณฑลไตรมาส 2 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 376.5 จุด เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนแต่เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าลดลง -2.4% แสดงให้เห็นว่าราคาที่ดินเปล่ายังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่มีการชะลอตัวจากไตรมาสแรก มีปัจจัยจากการที่เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกมีการขยายตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีอัตราส่วนที่สูงถึง 90% ของจีดีพี และเป็นช่วงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ความสามารถการซื้อและผ่อนชำระที่อยู่อาศัยของประชาชนลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยชะลอตัว ผู้ประกอบการจึงชะลอแผนในการเปิดขายโครงการใหม่ในปีนี้ถึงปี 2567 จึงชะลอซื้อที่ดินเปล่าในหลายทำเล อีกทั้งรัฐบาลประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตราในปี 2566 ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนซื้อที่ดินสะสมเพื่อรองรับโครงการในอนาคตซึ่งภาระภาษีที่ดิน เป็นต้นทุนในการพัฒนาโครงการในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ยังพบโซนที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โซนบางพลีบางบ่อบางเสาธง เพิ่มขึ้น 54.9% โซนสมุทรสาคร เพิ่มขึ้น26.1% โซนเมืองปทุมธานีลาดหลุมแก้วสามโคก เพิ่มขึ้น 17.6% โซนราษฎร์บูรณะบางขุนเทียนทุ่งครุบางบอนจอมทอง เพิ่มขึ้น 17.5% และโซนเมืองสมุทรปราการพระประแดงพระสมุทรเจดีย์ เพิ่มขึ้น 11.4% เนื่องจากที่ดินชานเมืองมีราคาไม่แพง ยังสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบได้

สำหรับราคาที่ดินเปล่าแนวเส้นทางรถไฟฟ้าพบว่า มี 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่มีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว และเป็นโครงการในอนาคต ได้แก่ สายสีเขียวช่วงสมุทรปราการบางปูและ สายสีเขียวช่วงแบริ่งสมุทรปราการ เพิ่มขึ้น 11.4% มากสุดเขตเมืองสมุทรปราการพระสมุทรเจดีย์, สายสีม่วงช่วงบางใหญ่เตาปูน เพิ่มขึ้น 4.5% มากสุดเขตเมืองนนทบุรี บางใหญ่ บางบัวทอง, สายสีน้ำเงินMRT และสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อหัวลำโพง เพิ่มขึ้น 3.8% มากสุดเขตจตุจักร ห้วยขวาง พญาไท, สายสีเขียว ช่วงหมอชิตสะพานใหม่คูคต และสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อมธ.รังสิต เพิ่มขึ้น 3.3% มากสุดเขตบางเขน หลักสี่ ดอนเมือง คลองหลวง และสายสีแดงเข้มช่วงหัวลำโพงมหาชัย เพิ่มขึ้น 2.4% มากสุดเขตจอมทอง บางบอน และบางขุนเทียน