มีปัญหาจริง! คปภ.ผ่อนมาตรการ 7 ข้อช่วยเหลือสภาพคล่องบริษัทประกัน หลังเจอยอดเคลมโรคโควิด-19 พุ่งสูง ทำจ่ายเงินช้า

554
0
Share:

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน COVID-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2564 และประธานบอร์ด คปภ. ได้ลงนามประกาศ คปภ. ดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบันที่มีความรุนแรง ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัทประกันวินาศภัยจำนวนหนึ่งต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากกรณีดังกล่าวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท รวมทั้งเพื่อให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับฐานะการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ และสามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว คปภ. จึงได้ออกมาตรการเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องในการดำเนินงานให้กับบริษัทประกันวินาศภัย 7 มาตรการ ดังนี้

  1. ยกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยจากการรับประกันภัย COVID-19
  2. ให้สามารถนับเงินกู้ยืมด้อยสิทธิ์ตามลักษณะที่กำหนดมาเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้
  3. ผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ขั้นต่ำ
  4. ยกเว้นการนำค่าเผื่อความผันผวนที่เรียกว่า provision of adverse deviation (PAD) มาคำนวณเงินกองทุน
  5. สามารถนำเบี้ยประกันภัยค้างรับที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วัน มาใช้ในเป็นสินทรัพย์หนุนหลัง
  6. สามารถนำเบี้ยประกันภัยค้างรับที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วัน มาใช้ในการคำนวณเงินสำรอง
  7. อนุญาตให้บริษัทมีสัดส่วนของเงินสดและเงินฝากธนาคารที่บริษัทใช้สำหรับการบริหารสภาพคล่องได้เกินร้อยละ 5

ทั้ง 7 มาตรการ เป็นการสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจให้กับบริษัทประกันภัย ทำให้บริษัทประกันภัยมีสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้เพิ่มสูงขึ้น ด้วยการลดภาระด้านการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จาก Buffer ที่ตั้งไว้ ผ่อนผันให้บริษัทถือเงินสดในมือได้มากขึ้น และยังเพิ่มทางเลือกให้กับบริษัทในการจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นที่บริษัทสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วกว่าการเพิ่มทุน และลดภาระค่าธรรมเนียมในการฝากเงินกับสถาบันการเงินของบริษัท นอกจากนี้ ยังทำให้บริษัทประกันภัยมีเวลามากขึ้นในการดำเนินการปรับปรุงฐานะเงินกองทุนและสภาพคล่องของบริษัทให้เป็นไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนด