ม.ขอนแก่นโชว์วิจัยวัคซีน ยันฉีดเข็มสามต้องเป็นแอสตร้าฯ หรือ mRNA เท่านั้น ซิโนแวคครบโดสสู้เดลต้าไม่ได้

647
0
Share:

ผศ. ดร. สุปราณี พันธุ์ธนวิบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาเบื้องต้น สรุปได้ว่า การรับวัคซีนซิโนแวคในอาสาสมัครกลุ่มที่ทำการทดลอง สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิแอนติบอดีได้ดี แต่การกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทีเซลล์มีน้อย จึงแนะนำให้ผู้ที่รับซิโนแวคครบ 2 เข็ม ควรได้รับการกระตุ้นทีเซลล์ด้วยวัคซีนชนิดอื่น ที่ไม่ใช่รูปแบบเชื้อตาย เพื่อประสิทธิภาพการป้องกันโรคที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่มีการเปลี่ยนรูปแบบวัคซีน ของอาสาสมัครกลุ่มเดิม จะมีการศึกษา ภูมิแอนติบอดี และ ภูมิเซลล์ อีกครั้ง

ผลวิจัยดังกล่าวเป็นการตรวจภูมิคุ้มกันของผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวคเป็นการศึกษาแอนติบอดี และ ทีเซลล์ของผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวคประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักศึกษาแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 335 คน โดยเก็บข้อมูลจากการ เจาะเลือด ทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ก่อนฉีดวัคซีน ครั้งที่ 2 หลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก 1 ครั้งที่ 3 หลังจากฉีดวัคซีนเข็มสอง 1 เดือน

รูปที่ 1) อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างแอนติบอดี ที่จำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อได้ ร้อยละ 89 หลังจากรับวัคซีนเข็มแรก และ ลังจากรับวัคซีนครบ 2 เข็ม สามารถตรวจวัดระดับปริมาณของแอนติบอดีที่จำเพาะได้ครบทุกคน (100%) ในปริมาณที่แตกต่างกันโดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1292 AU/ml (รูปที่ 1) ส่วนผลการศึกษาทีเซลล์พบว่ามีปริมาณที่ถูกกระตุ้นของ CD4+ T cell ในอาสาสมัครหลังรับวัคซีนสูงขึ้นเล็กน้อยหลังฉีดในขณะที่ CD8+ T cell ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับก่อนฉีดวัคซีน (รูปที่ 2)”

ผศ. นพ. อธิบดี มีสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะ แพทยศาสตร์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มสามารถกระตุ้นให้สร้างภูมิชนิดแอนติบอดีที่จำเพาะได้ เข็มแรกจะยังมีระดับ แอนติบอดีที่ต่ำ และจะเพิ่มมากขึ้นหลังจากเข็มที่ 2 แต่กระตุ้นภูมิด้านเซลล์นั้นยังกระตุ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นข้อจำกัดของเทคโนโลยีเชื้อตาย ฉะนั้นผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้วัคซีนบูสต์เข็มที่ 3 โดยเฉพาะในภาวะที่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อเช่นสายพันธุ์เดลต้า เพราะระดับแอนติบอดี ที่สร้างขึ้นนั้น อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้ ดังนั้น เพื่อประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิได้ทั้งสองด้าน การฉีดเข็ม 3 ให้กับผู้ที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็มจึงควรที่จะเป็นวัคซีนที่มีความสามารถในการกระตุ้นภูมิด้านเซลล์ได้ดี ได้แก่ วัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์หรือแอสตร้าเซเนก้า หรือชนิด mRNA