ม.หอการค้าไทยเสนอรัฐเร่งผ่อนปรนการเปิดกิจการ – ผ่อนปรนการล็อกดาวน์ เพื่อให้ธุรกิจไม่หยุดชะงัก

779
0
Share:

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยาการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนเม.ย. 2563 พบว่า อยู่ที่ 32.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 37.5 โดยดัชนีปรับลดลงทุกรายการ ทั้งด้านการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้าและบริการ เป็นต้น
.
สำหรับผลกระทบด้านลบได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงไม่ถึง 10 คนต่อวัน
.
รวมถึงการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายจังหวัด การประกาศพรก.ฉุกเฉิน และการสั่งปิดกิจกรรมบางประเภท ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบกับภาคการเกษตร และการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของประชาชน ปัญหาการว่างงานจากการประกาศปิดธุรกิจในบางประเภทที่ไม่สามารถแบกรับปัญหาของเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อออกไป
.
นอกจากนี้ยังมีผลจากการขาดรายได้ และสภาพคล่องจากการประกอบกิจการของธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลาง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลง รวมทั้งรายได้ของผู้บริโภคชะลอตัวลง ทำให้การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวลง
.
ขณะที่ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าจากระดับ 32.10 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2563 เป็น 32.63 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2563 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกจากประเทศไทย
.
ด้านปัจจัยบวกประกอบด้วย มาตรการรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชน และผู้ประกอบการในสถานการณ์โควิด-19 การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค. ที่เพิ่มขึ้น 4.17% มูลค่าอยู่ที่ 22,404 ล้านดอลลาร์ การนำเข้าเพิ่มขึ้น 7.25% มีมูลค่า 20,812 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1,592 ล้านดอลลาร์
.
ส่วนค่า SET Index เดือนเม.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 173.8 จุด จาก 1,125.86 ณ สิ้นเดือนมี.ค. 63 เป็น 1,301.66 จุด ณ สิ้นเดือน เม.ย. 63
.
สำหรับระดับราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 และออกเทน 95 ขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง 1.90 บาท และ 18.58 บาทต่อลิตรจากเดือนที่ผ่านมา
.
ทั้งนี้หอการค้าอยากเสนอแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหา เช่น การเร่งมาตรการผ่อนปรนการเปิดกิจการ เพื่อให้ธุรกิจไม่หยุดชะงัก การผ่อนปรนการล็อกดาวน์ในพื้นที่ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ควรทำให้ครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนอย่างทั่วถึง
.
รวมถึงมาตรการรองรับธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนจนถึงขั้นต้องปิดกิจการลงชั่วคราว ซึ่งทำให้มีความจำเป็นต้องปลดพนักงานบางส่วนลง และหากสถานการณ์ยังคงอยู่อีกนานจะทำให้ต้องปิดกิจการเป็นการถาวรในอนาคต และแผนการจัดสรรดูแลแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร และอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง