ม.หอการค้า คาดนโยบายรัฐบาลเศรษฐา1 หนุนไตรมาส 4/2566 ประชาชนใช้จ่ายสะพัด 7.2 หมื่นล้าน

154
0
Share:
ม. หอการค้า คาด นโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 หนุนไตรมาส 4/2566 ประชาชนใช้จ่ายสะพัด 7.2 หมื่นล้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2566 และทัศนะต่อนโยบายลดค่าครองชีพในปัจจุบัน ว่า ได้คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2566 โดยปรับประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลงที่ 3.0% จากเดิมคาดการณ์ที่ 3.6% โดยการเปลี่ยนแปลงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือปัจจัยบวกมาจาก 1.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมูลค่า 294,000 ล้านบาท 2.การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้น มูลค่า 322,794 ล้านบาท 3.การนำเข้าสินค้าปรับตัวลดลง มูลค่า 495,318 ล้านบาท 4.มาตรการลดค่าครองชีพ มูลค่า 65,716 ล้านบาท และ 5.มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร มูลค่า 7,223 ล้านบาท

ขณะที่ปัจจัยลบ 1.การส่งออกสินค้าปรับตัวลดลง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมูลค่าติดลบ 322,782 ล้านบาท 2.การสะสมสินค้าคงคลังลดลง มูลค่าติดลบ 673,799 ล้านบาท 3.ปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง (ปรากฏการณ์เอลนีโญ) มูลค่าติดลบ 38,619 ล้านบาท 4.การบริโภคอุปโภคภาครัฐบาลลดลง มูลค่าติดลบ 158,789 ล้านบาท 5.การลงทุนภาครัฐลดลง มูลค่าติดลบ 10,102 ล้านบาท และ 4การลงทุนภาคเอกชนลดลง มูลค่าติดลบ 80,601 ล้านบาท

“ปัจจัยบวกมีมูลค่าที่ 1.18 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.98% ต่อจีดีพี และปัจจัยลบมีมูลค่า 1.28 ล้านล้านบาท คิดเป็นติดลบ 7.57% ต่อจีดีพี เมื่อปัจจัยลบมีผลมากกว่าทำให้จีดีพีปี 2566 ลดลงจาก 3.6% มาเหลือที่ 3%”

ทั้งนี้ ช่วงไตรมาส 4/2566 เศรษฐกิจจะได้แรงสนับสนุนจากมาตรการเร่งด้วนของรัฐบาลเศรษฐา 1 โดย มาตรการลดค่าไฟฟ้า เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย (ช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม) ทำให้ครัวเรือนสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 30,616 ล้านบาท รวมถึงมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซลลง 2.5 บาทต่อลิตร ช่วยประหยัดได้ 14,283 ล้านบาท และ 3.การพักชำระหนี้เกษตรกร มีกลุ่มเกษตรกรเข้าข่าย 2.7 ล้านราย วงเงินต้น 2.83 แสนล้านบาท โดยรัฐจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้ 4.5% ของวงเงินทั้งหมด ทำให้ประหยัดหนี้ 3 เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม) 4,935 ล้านบาท รวม 3 มาตรการทำให้ประชาชนสามารถประหยัดเงินไปที่ 49,834 ล้านบาท หรือราว 5 หมื่นล้านบาท

หากพิจารณาแบบจำลองโดยนำเงินราว 5 หมื่นล้านบาท จากกำลังซื้อประชาชนได้อัดฉีดในระบบเศรษฐกิจ มีผลต่อจีดีพีช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2566 (ตุลาคม-ธันวาคม) ประมาณ 72,939 ล้านบาท โดยจะกระตุกเศรษฐกิจได้ 0.43% ของจีดีพีที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4/2566

นอกจากนี้ แม้การส่งออกจะเป็นปัญหาหนัก ช่วงปชายปี 2566 เพื่อเข้าปี 2567 อาจมีแนวนโยบายใหม่ๆ ออกมาจากรัฐบาลที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในด้านการส่งออกได้มากขึ้น และจากการเดินทางไปเจรจาในต่างประเทศของรัฐบาลจะสามารถดึงการลงทุนได้อย่างไรนั้น ต้องรอดูอีก 1 ไตรมาสนี้ และต้องติดตามว่ารัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่นและความโดดเด่นอย่างไร ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน เช่น สหรัฐที่ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย และเศรษฐกิจชะลอลง ขณะที่จีนที่มีปัญหาอสังหาริมทรัพย์

“เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้โดดเด่น ซึ่งปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่กรอบ 4.5-5% จากการอัดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และการท่องเที่ยวดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวเข้าไทยถึง 35 ล้านคน ทำให้เกิดดีมานด์มากขึ้น สอดคล้องกับประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” นายธนวรรธน์กล่าว