ยอดใช้จ่ายเทศกาลเจทรุดดิ่งครั้งแรกในรอบ 14 ปี

365
0
Share:

ยอดใช้จ่ายเทศกาลเจทรุดดิ่งครั้งแรกในรอบ 14 ปี ฉุดด้วยโควิด-19 น้ำท่วมหนัก ยังมองปีนี้เศรษฐกิจไทยโต 1%
.
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวถึงผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 4-13 ต.ค.64 นี้ ว่า ผลสำรวจประชาชนทางโทรศัพท์เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิดในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเสียงส่วนใหญ่ระบุว่า เทศกาลกินเจปีนี้ คนที่กินเจส่วนใหญ่ยังมีความต้องการที่จะร่วมกินเจเพื่อทำบุญและลดการบริโภคอาหารสัตว์ แต่ยอมรับว่าจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหา ทำให้เทศกาลกินเจในปีนี้ไม่คึกคักเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังวิตกจากปัญหาการติดเชื้อโควิดรายวันยังมีอัตราที่สูง จึงไม่อยากให้ติดเองต้องไปรับเชื้อจากโควิดเพิ่มเติม ทำให้การกินเจในปีนี้พฤติกรรมการกินเจจะเน้นไปสั่งซื้อสินค้าอาหารเจทางออนไลน์มาบริโภคแทนการออกไปนั่งกินหรือการไปกินเจตามสถานที่ต่างๆ เหมือนที่ผ่านมา
.
อย่างไรก็ตาม ถือว่าเทศกาลกินเจในปีนี้ ไม่คึกคักแม้คนส่วนใหญ่ยังสนใจที่จะบริโภคอาหารเจ แต่ด้วยปัญหาการติดเชื้อโควิดยังมีอัตราที่สูง และอาหารยังมีราคาสูง แม้ว่าภาครัฐจะคลายล็อกในหลายภาคธุรกิจมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ยังกลัวว่าโควิดที่จะติดเชื้อโควิดยังมีสูง ทำให้การกินเจในปีนี้ถือว่ายอดการใช้จ่ายตลอดการกินเจจะอยู่ 40,147 ล้านบาท ติดลบสูงถึงร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจในปี 63 ที่มีมูลค่า 46,967 ล้านบาท ถือว่าเทศกาลกินเจในปีนี้ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเซรษฐกิจในหลายๆด้านอยู่ในขณะนี้
.
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังมองว่า แม้ภาครัฐจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิดก็ตาม แต่สิ่งที่ประชาชนต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินการหลังจากนี้ คือ เร่งการฉีดวัคซีนประชาชนที่เหลือให้มากขึ้น พร้อมเร่งหามาตรการช่วยเหลือภาคประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆอย่างต่อเนื่องและให้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลโดยเร็ว และมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 1 และปีหน้าเศรษฐกิจจะโตร้อยละ 5 แต่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็คงจะต้องติดตามการเปิดประเทศของรัฐบาลจะส่งผลให้การท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้นหรือไม่และการป้องกันเชื้อโควิดลดลงมากกว่าปัจจุบันแค่ไหน