ยุค 3 เป็น! ตะลึงคนไทยเป็นหนี้เร็ว-นาน-ยันแก่ กู้เงินก่อหนี้มากกว่ากู้หนี้สร้างรายได้

339
0
Share:
ยุค 3 เป็น! ตะลึง คนไทย เป็น หนี้ เร็ว-นาน-ยันแก่ กู้เงินก่อหนี้มากกว่ากู้หนี้สร้างรายได้

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า คนไทยในปัจจุบันเผชิญสภาพติดหนี้ดังนี้ เป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน และเป็นหนี้จนแก่ ขณะนี้มี 60% ของคนอายุน้อยจะเป็นหนี้ และมี 20% ของคนหลังเกษียณที่ยังเป็นหนี้เฉลี่ยเกิน 100,000 บาทต่อคน ที่สำคัญ พบว่า 1 ใน 4 ของผู้กู้ที่มีอายุน้อยมีหนี้เสียสูงสุด

ดังนั้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยในขณะนี้จะเกิดขึ้นในกลุ่มเยาวชนเป็นหลัก ซึ่งเยาวชนเป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้เสีย ทำให้เยาวชนมีประวัติไม่ดี การเข้าถึงสินเชื่อเอาไปประกอบอาชีพลงทุนระยะยาวจะยากขึ้นมาก และทำให้เกิดผลต่อการพัฒนาประเทศไทย

สาเหตุที่คนเมือง คนรุ่นใหม่เข้าสู่การเป็นหนี้เร็วนั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า ส่วนใหญ่เป็นหนี้อุปโภคบริโภค ขาดวินัยการเงิน และตลาดสินเชื่อแข่งขันสูง เมื่อไปเปรียบเทียบปัญหาหนี้ของคนชนบท จะมีหนี้สินปริมาณมากจนอายุแก่ชรา ซึ่งเป็นหนี้จากปัญหาการเกษตร และหนี้ส่วนบุคคล

สถานการณ์ในปัจจุบัน ยังพบว่ากว่า 80% ของหนี้ครัวเรือนคนไทยส่วนใหญ่ จะอยู่ในรูปแบบของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคล และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งแตกต่างจากในสภาวะการเป็นหนี้ของคนในต่างประเทศ โดย 80% ของสินเชื่อของคนในต่างประเทศที่เป็นหนี้จะเป็นหนี้สินเชื่อบ้าน ซึ่งเป็นหนี้สินที่สามารถสร้างรายได้

อย่างไรก็ตาม สาเหตุในภาพรวมของคนไทยติดหนี้มาจาก 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.เป็นหนี้เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจการเงิน รายได้ไม่แน่นอน และมีปัญหาสภาพคล่อง 2.เป็นหนี้เพราะไม่รู้ มีหนี้สินจากการโดดหลอก หรือไม่รู้จ่ายแต่ดอกเบี้ย 3.เป็นหนี้เพราะไม่มีวินัย และ 4.เป็นหนี้เพราะนโยบายของรัฐบาล

ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า 86% ของครัวเรือนไทยมีหนี้ทั้งในและนอกระบบ ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังพึ่งพาหนี้กึ่งในระบบและนอกระบบ หนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ 24% ของพอร์ตหนี้ครัวเรือน
ปัจจุบัน ในขณะที่ปัญหาหนี้สินครัวเรือนของชุมชนท้องถิ่นถือเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากเป็นหนี้วงกว้าง และมีมูลค่าหนี้มาก 90% ของเกษตรกรมีหนี้สิน และมียอดหนี้สูงเฉลี่ย 450,000 บาทต่อครัวเรือน และกว่า 54% อยู่ในโครงการพักหนี้

ดังนั้น การจะแก้หนี้คงไม่สามารถทำได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ในแต่ละชุมชนยังมีหนี้หลายก้อนทั้งจากหลายสถาบันการเงินในระบบและนอกระบบ ข้อมูลล่าสุด พบว่าเกษตรกรไทยมีหนี้เฉลี่ย 3.8 ก้อน และใช้ 4 สถาบันการเงินหลัก คือ 1.SFI 2.สถาบันการเงิน เช่นกองทุนหมู่บ้าน 3.แหล่งเงินกู้นอกระบบ และ 4.บริษัทเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง