ยูเอ็นชี้ประชาชนตายเกือบ 600 ในยูเครน วาติกันชี้ผู้นำทำสงครามลืมความเป็นมนุษย์

424
0
Share:

สถานการณ์วิกฤตการโจมตีทางทหารรัสเซียอย่างรุนแรงกับประเทศยูเครนเมื่อ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาถึงวันนี้ 14 มีนาคม 2565 ซึ่งเข้าสู่วันที่ 19 นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มโจมตียูเครน พบว่าความรุนแรงด้วยการโจมตีของรัสเซียยังคงเกิดขึ้นทั้งในกรุงเคียฟซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูเครน เมืองคาร์คิฟ ซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน และเมืองอื่นๆในเป้าหมายของรัสเซีย

ยูเครน: รัฐบาลยูเครน เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ 13 มีนาคม 2565 เวลา 16.45 น. โดยประมาณตามเวลาไทย กองทัพรัสเซียยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพทหารยูเครนในเมืองลวีฟ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนระหว่างประเทศยูเครนกับประเทศโปแลนด์ ส่งผลมีผู้เสียชีวิตทันที 9 ราย มีผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 57 ราย นับเป็นการโจมตีที่รุนแรงมากที่สุดทางภาคตะวันตกของประเทศยูเครนนับตั้งแต่รัสเซียเริ่มโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา

รัฐบาลยูเครน เปิดเผยต่อไปว่า เมื่อวานนี้ 13 มีนาคม 2565 เบรนท์ เรอโนลด์ ผู้สื่อข่าวและนักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกันวัยกว่า 50 ปี ที่เคยทำงานให้หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ถูกกองกำลังรัสเซียยิงเสียชีวิตขณะที่รถที่เขานั่งมาด้วยผ่านจุดตรวจในเมืองเออร์ปิน นอกกรุงเคียฟ ส่งผลให้เขาเป็นผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติคนแรกที่เสียชีวิตในสมรภูมิรบที่ยูเครน โดยในเหตุการณ์ที่กองกำลังรัสเซียยิงใส่รถครั้งนี้ยังทำให้มีผู้สื่อข่าวต่างชาติได้รับบาดเจ็บอีก 2 คน สำหรับเรอโนลด์ วัย 50 ปี เคยมีประสบการณ์รายงานข่าวในอิรัก อัฟกานิสถาน และเฮติมาแล้ว

ด้านสมาชิกสภารายหนึ่งแห่งแคว้นเคอร์ซอน ที่อยู่เหนือคาบสมุทรไครเมีย เปิดเผยว่า สมาชิกสภาลงมติ 44 เสียงเห็นชอบญัตติดังกล่าว เพราะไม่สามารถให้การรับรองความพยายามที่จะสร้างสาธารณรัฐประชาชนในแคว้นเคอร์ซอนเพื่อฉกฉวยดินแดนของยูเครน แคว้นเคอร์ซอน “เคยเป็น เป็น และจะเป็น” ดินแดนส่วนหนึ่งของรัฐเดียวคือยูเครนต่อไป สมาชิกสภาอีกรายเปิดเผยว่า รัสเซียพยายามกดดันให้สภาจัดการลงประชามติเรื่องแยกตัวเป็นอิสระจากยูเครน โดยได้เรียกตัวสมาชิกสภาไปสอบถามว่า พร้อมให้ความร่วมมือหรือไม่ ข้อมูลตามวิกิพีเดียระบุว่า สภาแคว้นเคอร์ซอนมีสมาชิกทั้งหมด 64 คน ก่อนหน้านี้นายดมิโตร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนทวีตผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันเสาร์ว่า รัสเซียพยายามอย่างหนักที่จะจัดการลงประชามติหลอกลวงเพื่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนปลอม ๆ ขึ้นในเคอร์ซอน

องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) เปิดเผยว่าข้อมูลถึงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 2565 มีจำนวนผู้ลี้ภัยมากถึง 2.5 ล้านคนออกจากประเทศยูเครน ในจำนวนนี้ พบว่าเป็นเด็กลี้ภัยมากกว่า 1 ล้านคนนับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแรกที่รัสเซียเริ่มโจมตียูเครน นอกจากนี้ มีอย่างน้อย 37 รายเสียชีวิต และอย่างน้อย 50 รายได้รับบาดเจ็บ

วาติกัน: พระอัครสังฆราชปิเอโตร ปาโรลีน เลขาธิการรัฐวาติกัน ซึ่งเป็นผู้ได้รับการเคารพอย่างกว้างขวางมากเป็นอันดับสองรองจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขคริสต์จักรโรมันคาทอลิก ได้เรียกร้องให้รัสเซียเจรจากับยูเครน โดยระบุว่าผู้นำที่ทำสงคราม คือผู้ที่เชื่อแต่ตรรกะเลวร้ายเรื่องการใช้อาวุธ และลืมสิ้นถึงความเป็นมนุษย์ พร้อมกับย้ำเรื่องสำนักวาติกันอาสาเป็นเจ้าภาพการเจรจา เพื่อก้าวไปสู่อนาคตของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ พระอัครสังฆราชปาโรลีนเปรียบสงครามว่าเหมือนมะเร็งร้ายที่เติบโต ลุกลาม และกัดกินตัวเอง เป็นการเสี่ยงภัยที่ไม่มีทางหวนกลับดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เคยตรัสไว้ ทุกคนต้องตระหนักว่า ได้ตกไปอยู่ในระแสน้ำวนที่คาดการณ์ไม่ได้และส่งผลเลวร้ายกับทุกคนแล้ว แต่ขอบอกว่ายังไม่สายเกินไปที่จะสร้างสันติภาพ และถอยหลังมาหนึ่งก้าวเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน

รัสเซีย: มิคาฮิล มิซินต์เซฟ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมการป้องกันประเทศแห่งชาติของรัสเซีย เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ยุ่งยากที่สุดในขณะนี้อยู่ที่เมืองมารีอูปอล ยูเครน สาเหตุจากประชาชนจำนวนมากรวมทั้งชาวต่างชาติถูกกลุ่มชาตินิยมบังคับและใช้ความรุนแรงทางกายข่มขู่ไม่ให้อพยพออกนอกเมือง รัสเซียได้เปิดเส้นทางมนุษยธรรมครั้งที่ 8 ตั้งแต่เวลา 10.00 น.วันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงเคียฟ เมืองเชอร์นีกอฟ (ยูเครนเรียกว่าเชอร์นีฮิฟ) เมืองซูมี เมืองคาร์คิฟ และเมืองมารีอูปอล โดยมีปลายทางด้านหนึ่งเข้ามายังรัสเซีย และปลายทางอีกด้านผ่านดินแดนของทางการยูเครนไปยังพรมแดนฝั่งตะวันตกของยูเครน แต่ยูเครนไม่เคยแจ้งยืนยันแม้แต่ครั้งเดียวว่าจะมีคนอพยพเข้ารัสเซีย เป็นการพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่ารัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบันไม่ได้ใส่ใจประชาชนของตนเองเลย

สหราชอาณาจักร: รัฐบาลอังกฤษ จัดโครงการบ้านเพื่อชาวยูเครน หรือ Homes for Ukraine โดยเตรียมจ่ายเงินพิเศษให้ผู้ที่เปิดบ้านรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน เป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 350 ปอนด์ หรือประมาณ 15,000 บาท เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการที่เปิดรับผู้อพยพที่หนีภัยสงครามหลังยูเครนถูกรัสเซียบุกโจมตี ให้เดินทางเข้าสู่ประเทศอังกฤษได้ถึงแม้จะไม่ได้มีครอบครัวอาศัยอยู่ในอังกฤษก็ตาม รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะจ่ายเงินให้กับชาวอังกฤษที่เปิดบ้านรับผู้ลี้ภัยเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 350 ปอนด์ต่อเดือน ต่อเนื่องเวลาอย่างน้อย 6 เดือน หากประชาชน องค์กรการกุศล ภาคธุรกิจ และกลุ่มประชาสังคม จะต้องยื่นเสนอที่พักพิงให้กับชาวยูเครนผ่านเว็บไซต์ของรัฐได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยผู้ที่เสนอที่พักพิงให้กับชาวยูเครนจะต้องผ่านมาตรฐาน และต้องได้รับการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อนเท่านั้น

เยอรมนี: อันนาเลนา แบร์บ็อก รมว.ต่างประเทศ ของเยอรมนี เดินทางไปเยือนประเทศมอลโดวา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศภูมิภาคยุโรปตะวันออก เพื่อเยี่ยมและตรวจสอบภารกิจช่วยเหลือผู้อพยพหนีภัยการสู้รบจากยูเครน โดยกล่าวว่า เยอรมนีจะรับผู้อพยพชาวยูเครน 2,500 คนจากมอลโดวา พร้อมกล่าวยกย่องมอลโดวา ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก แต่กลับรองรับผู้อพยพได้จำนวนมาก และเรียกร้องประชาคมโลกสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านของยูเครน เพราะต่างแบกรับดูแลผู้อพยพจนแทบไม่เหลือพื้นที่แล้ว

ตูนิเซีย: สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้คนแห่ซื้อของกักตุนมากกว่าปกติ เจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตคนหนึ่งในตูนิเซียยืนยันว่า สินค้าไม่ได้ขาดแคลน แต่คนแห่ซื้อแป้งเซโมลินาที่ใช้ทำคูสคูส (couscous) อาหารจานหลักประจำภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าในช่วงไม่กี่วัน ขณะที่เจ้าของร้านขนมปังรายหนึ่งยอมจ่ายเงิน 3 เท่าเพื่อซื้อแป้งในปริมาณเท่าเดิม ตูนิเซียนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนเกือบครึ่งหนึ่งเพื่อทำขนมปัง ทางการเผยว่า มีข้าวสาลีเพียงพอสำหรับการบริโภคนาน 3 เดือน