รถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 183 ปรับปรุงใหม่ พร้อมเปิดทดลองนั่งจากสถานีมักกะสัน

363
0
Share:
รถดีเซลราง ปรับอากาศ KIHA 183 ปรับปรุงใหม่ พร้อมเปิดทดลองนั่งจากสถานีมักกะสัน

การรถไฟแห่งประเทศไทย เผยโฉมรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ที่ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น มาจำนวน 17 คัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ล่าสุดทำการปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้ว และพร้อมที่จะเปิดทดลองเดินรถจากสถานีมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพ ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวช่วงปลายปี 2565

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่ารถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183ที่ได้นรับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น นั้น ประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง (High Cab) 40 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ 68 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับต่ำ (Low Cab) 52 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน และได้มีการส่งมอบรถมาถึงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เพื่อทำการดัดแปลงเป็นตู้รถไฟ สำหรับให้บริการแก่ประชาชน และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น

ที่ผ่านมาการรถไฟฯ โดยฝ่ายการช่างกล ได้ดำเนินการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 เสร็จสมบูรณ์แล้ว 3 คัน พร้อมกับได้นำมาเปิดทดลองเดินรถจากเส้นทางสถานีมักกะสัน – ฉะเชิงเทรา – กรุงเทพ เป็นครั้งแรก โดยมีคณะสื่อมวลชนร่วมทดลองใช้บริการ ประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง จำนวน 2 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ จำนวน 1 คัน ซึ่งการทดลองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งภายหลังจากทดสอบประสิทธิภาพขบวนรถชุดแรกแล้วเสร็จ การรถไฟฯ จะเร่งปรับปรุงรถคันอื่นที่เหลือ เพื่อเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2566

สำหรับการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 การรถไฟฯ ได้มีการปรับขนาดความกว้างของล้อจาก 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร ตามมาตรฐานทางรถไฟไทย รวมถึงได้ทำการทดสอบสมรรถนะของรถ โดยวางแผนปรับปรุงรถเป็น 4 ชุดๆ ละ 4 คัน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งาน ควบคู่กับการรักษาเอกลักษณ์กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น

โดยในระยะแรก การรถไฟฯ ได้ปรับปรุงภายในรถใหม่ รวมทั้งมีการตรวจสอบระบบการทำงานของเครื่องยนต์ ระบบห้ามล้อ ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ รวมถึงทำความสะอาดภายใน ซักล้างเบาะที่นั่ง ผ้าม่าน ปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์ภายในจากภาษาญี่ปุ่นให้มีภาษาอังกฤษเพิ่มเติม พร้อมระบบห้องสุขา โดยได้ทดลองระบบการทำงานแบบเสมือนจริงทั้งหมด อีกทั้งยังได้ดัดแปลง ชุดหัวท่อเติมน้ำใช้ และชุดหัวสูบถ่ายจากถังเก็บสิ่งปฏิกูลให้สามารถใช้ร่วมกับรถโดยสารประเภทชุดด้วย

ขณะที่การปรับปรุงภายนอกตัวรถ มีการดัดแปลง และปรับปรุงนำโคมไฟส่องทางด้านบนของตัวรถออก เนื่องจากเกินเขตโครงสร้างของรถ (Loading Gauge) และได้ย้ายไฟมาติดตั้งที่หน้ารถแทน บริเวณซ้ายและขวาจำนวน 2 ดวง ตลอดจนดัดแปลงบันไดให้สามารถขึ้น-ลงได้กับชานชาลาต่ำได้ รวมถึงปรับสภาพผิวตัวรถภายนอกโดยได้ขัดทำสีใหม่ ด้วยการใช้น้ำยาลอกสีแทนการใช้ความร้อน เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงใช้เฉดสีเดิมเพื่อคงกลิ่นไอความเป็นญี่ปุ่นอยู่

ส่วนแผนการปรับปรุงรถระยะที่ 2 การรถไฟฯ ได้วางแผนการซ่อมบำรุงใหญ่ เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้บริการเดินรถได้ในระยะยาว อาทิ การเปลี่ยนล้อ เพลาใหม่ พร้อม Bearing เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เปลี่ยนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใหม่ เปลี่ยนเครื่องทำลมอัด (Air Compressor) ใหม่ ปรับปรุงระบบปรับอากาศ ปรับปรุงระบบไฟแสงสว่างเป็น 220 V. และระบบไฟฟ้าทั้งหมดเป็น 380 v. / 220 v. 50 Hz โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการครบทุกคัน ประมาณ 2 ปี

ซึ่งภายหลังจากปรับปรุงขบวนรถ KIHA 183 เสร็จครบถ้วน การรถไฟฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อกำหนดเส้นทางให้บริการ โดยจะเริ่มให้บริการในเส้นทางระยะสั้น แบบวันเดย์ทริป ขบวนสำหรับเทศกาลในวันสำคัญ หรือให้บริการเช่าเหมาขบวนก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนธันวาคม 2565