นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท.ครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่มี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน ให้ชะลอการลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม แบบรายละเอียด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟชานเมือง สายสีแดงเข้ม ช่วงวงเวียนใหญ่–มหาชัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งกิจการค้าร่วม (Consortium) ในนามของบริษัท เทสโก้ จำกัด มีผู้เข้าร่วมค้า 4 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท เทสโก้ จำกัด (Lead Firm) 2. บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด 3. บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์จำกัด และ 4. บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด กรอบวงเงินสัญญาจ้าง 135,622,500 บาท ออกไปก่อน โดยให้รอความชัดเจนในการพิจารณาเส้นทางรถไฟสายสีแดงช่วงหัวลำโพง–วงเวียนใหญ่–มหาชัย จากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) อย่างเป็นทางการก่อนดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย
โดยแนวทางที่ สนข.เสนอ คจร. คือจะยังไม่ดำเนินการเส้นทางช่วงหัวลำโพง–วงเวียนใหญ่ เนื่องจากมีค่าก่อสร้างค่อนข้างสูง และช่วงของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่ผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงเป็นอุปสรรคในการดำเนินโครงการช่วงนี้ ซึ่งขณะนี้ สนข. ได้เสนอเรื่องต่อ คจร.เพื่อปรับการดำเนินงานโดยชะลอในส่วนของเส้นทางช่วง หัวลำโพง–วงเวียนใหญ่ออกไปก่อน จากที่ก่อนหน้านี้บอร์ดได้มอบหมาย รฟท.ไปหารือกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในการดำเนินโครงการสายสีแดงช่วง หัวลำโพง–วงเวียนใหญ่–มหาชัย โดย สนข.ได้ชี้แจงว่าเนื่องจากโครงการสายสีแดงเข้มยังอยู่ระหว่างการเสนอ คจร.พิจารณา ดังนั้นบอร์ด รฟท.จึงให้รอมติ คจร.การตัดเส้นทางช่วงหัวลำโพง–วงเวียนใหญ่ อย่างเป็นทางการก่อนจึงจะพิจารณาอนุมัติต่อไป
ส่วนการประมูลคัดเลือกที่ปรึกษานั้น ตามขั้นตอนการประกวดราคา เมื่อได้ผู้เสนอราคาต่ำจะนำเสนอบอร์ด รฟท.อนุมัติ จากนั้นประกาศผล หากไม่มีผู้อุทธรณ์ภายใน 7 วันจะเรียกผู้ชนะมาลงนามสัญญา ซึ่งขั้นตอนขณะนี้คือต้องให้บอร์ด รฟท.อนุมัติก่อน โดยเจรจากับเอกชนเพื่อยืนราคาได้อย่างน้อยไปถึงเดือน ธ.ค. 2567
สำหรับ จากผลการศึกษาเดิมเมื่อปี 2549 โครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงหัวลำโพง–มหาชัย ระยะทางรวม 36.56 กิโลเมตร โครงสร้างยกระดับ มูลค่าประมาณ 53,064 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 1. ช่วงหัวลำโพง–วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 3.40 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 4,934 ล้านบาท 2. ช่วงวงเวียนใหญ่–มหาชัย ระยะทาง 33.16 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 48,129 ล้านบาท