รมว.กระทรวงดีอีเอสขู่ปิดเฟซบุ๊กในไทยไม่ให้คนไทยใช้ในอีก 7 วัน ชี้รับเงินโฆษณาเพจปลอม

364
0
Share:
รมว. กระทรวง ดีอีเอส ขู่ ปิด เฟซบุ๊ก ในไทยไม่ให้คนไทยใช้ในอีก 7 วัน ชี้รับเงินโฆษณาเพจปลอม

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอสจะดำเนินการฟ้องต่อศาล เพื่อขอคำสั่งปิดกั้นแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก ไม่ให้บริการในไทย หลังจากที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้มีการรับเงินโฆษณาจากเพจปลอมเพื่อเป็นสปอนเซอร์ที่หลอกชักชวนลงทุน จนเกิดความเสียหายต่อคนไทยจำนวนมาก โดยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท โดยจากสถิติการหลอกลวงลงทุนผ่านโซเซียลมีเดียกว่า 70% เป็นการหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊ก และจำนวน 90% เป็นการหลอกขายของออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก

ในช่วงผ่านมา มีผู้เสียหายมากกว่า 200,000 ราย จาก 300,000 ราย มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 10,000 ล้านบาท ถ้าเฟซบุ๊กอยากทำธุรกิจในประเทศไทย เขาต้องแสดงความรับผิดชอบกับสังคมไทย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงได้คุยกับเฟซบุ๊กอยู่ตลอด แต่กลับไม่สกรีนผู้มาลงโฆษณา ทำให้ประชาชนชาวไทยได้รับความเสียหายมูลค่าหลายล้านบาท

เฟซบุ๊กมีการรับเงินจากเพจเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นรายได้เข้าบริษัท แต่กลับไม่มีการตรวจสอบ และสกรีน ว่าเป็นเพจที่หลอกลวงหรือไม่ แต่กลับปล่อยให้เพจเหล่านี้มาหลอกลวงคนไทยจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมา ดีอีเอส จะรวบรวมเสนอศาลขอคำสั่งปิดแต่เพจเหล่านี้ก็จะไปเปิดใหม่ เหมือนแมวไล่จับหนู ไม่จบสิ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่ากระทรวงฯ ได้มีการส่งหนังสือขอให้บริษัท เมตา (ประเทศไทย) จำกัด หรือเฟซบุ๊กดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมีการซื้อขายโฆษณาบนแพลตฟอร์มและส่งข้อมูลให้เฟซบุ๊กทำการปิดกั้นโฆษณาหลอกลวงไปแล้วกว่า 5,301 โฆษณา/เพจปลอม อีกด้วย

ทั้งนี้ ดีอีเอส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า ก.ล.ต. หรือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีการเสนอการลงทุนดังกล่าว และประชาชนสามารถตรวจสอบรูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพได้ดังนี้
1. มิจฉาชีพมักจะมีการโฆษณาชักชวนโดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงเกินจริง โดยใช้เวลาลงทุนไม่นานและง่ายดาย เป็นอีกรูปแบบที่ทำให้มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมากเพราะคาดหวังในผลตอบแทนดังกล่าว เช่น เงินลงทุน 10,000 บาท ระยะเวลา 15 วัน จะได้รับกำไร 50%
2. การันตีผลตอบแทน โดยกำหนดเป็นตัวเลขที่แน่นอน เช่น 30% ต่อสัปดาห์ หรือการการันตีว่าจะได้รับผลตอบแทนแน่นอน หากลงทุนไม่เป็นก็มีผู้เชี่ยวชาญคอยลงทุนให้
3. อ้างชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือมีการนำภาพของดารา ศิลปิน หรือนักธุรกิจชื่อดังต่างๆ มาแอบอ้างว่าบุคคลเหล่านั้นก็ร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการลงทุน
4. ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้ หากมีการชักชวนให้ร่วมลงทุนแต่ไม่มีสินค้า ไม่มีแผนธุรกิจ หรืออ้างว่าแพลตฟอร์มอยู่ต่างประเทศ ทำให้ตรวจสอบข้อมูลการเงินไม่ได้ ก็เข้าข่ายว่าอาจจะเป็นมิจฉาชีพ
5. ให้รีบตัดสินใจลงทุน โดยมักจะเสนอสิทธิพิเศษเฉพาะช่วงเวลาเหล่านั้นให้ เช่น หากไม่ลงทุนตอนนี้จะพลาดโอกาสที่ได้ผลตอบแทนดีๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้รีบตัดสินใจลงทุน