รมว.คลังคาดเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบช่วงก่อนโควิด ต้องใช้เวลาอีก 3-4 ปี

463
0
Share:

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 4-4.5% เพิ่มขึ้นจากปี 63 ที่คาดว่าจะติดลบ 6% โดยภาครัฐจะเป็นตัวหลักขับเคลื่อน ทั้งการลงทุนและการกระตุ้นการบริโภค เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นได้รับผลกระทบหมด ขณะที่ส่งออกปีนี้ ทางสภาผู้ส่งออกก็ประเมินว่าจะโต 3.6% ก็ต้องดูว่ายังเติบโตได้หรือไม่
.
แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า จีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัวได้แค่ 3.2% ซึ่งคลังจะมีการปรับประมาณการใหม่ในวันที่ 28 ม.ค.นี้
.
โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินโยบายดูแลเศรษฐกิจ และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งจากมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน มาตรการคนละครึ่ง และล่าสุดโครงการเราชนะ ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนได้รับสิทธิ 31ล้านคน ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญในการลดภาระค่าใช้จ่ายรายวันให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังมีเงินทุนสำรองที่อยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ หนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง
.
ส่วนการดูแลผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้ธุรกิจดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างร่วมกันปรับปรุงเกณฑ์เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน วงเงิน 500,000 ล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เพื่อให้ภาคธุรกิจ หรือ เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิดสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
.
โดยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่นี้ ทำให้รัฐจะต้องมีมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้น และระยะกลางจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รักษาหรือสนับสนุนการจ้างงาน
.
ส่วนระยะยาวไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยจะแบ่งเป็น 3 ด้านอุตสาหกรรม คือ 1.การทำธุรกิจให้เป็น Digital 2.การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว และ 3.ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพและอนามัย รวมถึงการผลักดันไปสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG)
.
อย่างไรก็ตามหากต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับไปแบบก่อนช่วงโควิดระบาดนั้น อาจจะต้องใช้เวลาอีก 3-4 ปี แต่การดำเนินชีวิตภายในประเทศจะต้องเริ่มภายในปีนี้ หากยุติการแพร่กระจายเชื้อได้เร็ว ชีวิตปกติของคนไทยก็จะกลับมาได้เร็วขึ้น
.
สำหรับสายการบินต้องบอกว่าคงไม่สามารถให้เงินกู้ เพื่อไปลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ แต่จะพิจารณาที่มีความจำเป็น เช่น ค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน เพื่อรักษาการจ้างงาน และค่าใช้จ่ายประจำวันที่จำเป็นต้องใช้ในการบิน โดยจะให้ทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ช่วยดูให้
.
ส่วนกรณีที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวขอให้รัฐร่วมจ่ายเงินเดือนพนักงาน เพื่อประคองการจ้างงานนั้น ต้องไปดูว่าทางสำนักงานประกันสังคมจะช่วยได้หรือไม่ ซึ่งทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯต้องไปคุยกับกระทรวงแรงงาน