รมว.คลังสั่งแบงก์รัฐดูแลลูกหนี้ ห้ามปล่อยให้ลูกหนี้ตกชั้น

928
0
Share:

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 7 แห่ง ออกมาตรการดูแลลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการพักชำระหนี้จากผลกระทบโควิด-19 จำนวน 6.57 ล้านราย ที่คิดเป็นมูลหนี้ 2.89 ล้านล้านบาท หลังจากสิ้นสุดมาตรการของแต่ละแบงก์ 22 ต.ค.นี้
.
โดยยืนยันลูกหนี้ทุกรายไม่ต้องกังวลใจ เพราะจะได้รับความช่วยเหลือภายหลังสิ้นสุดมาตรการต่อแน่นอน ซึ่งจะขยายเวลาให้ตั้งแต่ 3-12 เดือน
.
การช่วยเหลือของแบงก์รัฐจะไม่เหมือนกับแบงก์พาณิชย์ เพราะมีความยืดหยุ่นกว่า ซึ่งจะมีทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การขยายเวลาการพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงการลดดอกเบี้ยให้ด้วย
.
ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีความแข็งแกร่ง เห็นได้จากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ธนาคารออมสิน ตั้งรองประมาณ 1.2 เท่าของหนี้เสีย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตั้งสำรองไว้ที่ 1.6 เท่า และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 5.6 เท่า
.
ขณะเดียวกัน ยังได้สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐดูแลไม่ให้ลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้บ้าง แม้จะไม่สม่ำเสมอ ไม่ให้ตกชั้นกลายเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้
.
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารมีลูกหนี้ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษประมาณ 10% หรือ 100,000 ล้านบาท ของหนี้ที่พักชำระทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท โดยมาตรการรองรับในระยะต่อไป สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีความเสี่ยงสูง โดยการพักชำระหนี้ และลดดอกเบี้ยให้เป็นระยะเวลา 6 เดือน และจากนั้นจะประเมินความสามารถในการชำระหนี้เป็นรายตัว เพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสม
.
ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า ลูกค้าสินเชื่อบ้านของธนาคาร เข้าโครงการพักหนี้ของธนาคารทั้ง 10 มาตรการ จำนวน 6.8 แสนราย เป็นมูลหนี้ 5.7 แสนล้านบาท ซึ่งบางมาตรการได้ขยายเวลาการพักชำระหนี้ไปถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2563 แล้ว ทั้งนี้คาดว่าจะมีลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ 4.9% ที่อาจจะไม่สามารถชำระหนี้ต่อได้เมื่อมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลง