รมว.คลัง ย้ำ! รัฐบาลกู้เงินตามความจำเป็น ถึงแม้มีพื้นที่ก่อหนี้เหลือเกือบ 10%

401
0
Share:
กู้เงิน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มอีกหรือไม่ หลังจากที่ได้ออก พ.ร.ก. กู้เงินไปแล้ว 2 ฉบับ รวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19

โดยได้กล่าวว่า ต้องดูสถานการณ์ความจำเป็น และความชัดเจนว่าต้องการกู้เพื่อนำไปใช้อะไร เพราะขณะนี้มีหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยว่าอยู่ในระดับสูง ซึ่งหากมีการกู้เงินเพิ่มก็จะส่งผลต่อตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้ปรับเพิ่มขึ้นด้วย แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลจะมีพื้นที่ในการก่อหนี้สาธารณะได้อีก 10% ของจีดีพีก็ตาม แต่การจะกู้เงินก็ต้องพิจารณาตามความจำเป็น และวินัยการเงินการคลังด้วย

ซึ่งแผนบริหารหนี้ของรัฐบาล ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ แผนก่อหนี้ใหม่ และการบริหารหนี้เดิม โดยการยืดการชำระหนี้ การทำ Bond Switching และการชำระหนี้คืน โดยในส่วนของการก่อหนี้ใหม่ จะมีโครงการของทางราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะมีทั้งโครงการที่การคลังเข้าไปค้ำประกัน และไม่ค้ำประกัน โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ใช้งบประมาณ 8 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท ต่อปี โดยหากเป็นตามแผน และไม่มีการก่อหนี้ใหม่เพิ่ม คาดจะทำให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 65 อยู่ที่ 62%

“เมื่อรวมงบลงทุนของราชการและรัฐวิสาหกิจ และ พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทแล้ว จะทำให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นงบประมาณ 65 อยู่ที่ 62% ของจีดีพี ซึ่งเป็นตัวเลขที่คลังได้ประเมินไว้แล้ว จึงได้ขอให้ขยายเพดานหนี้สาธารณะขึ้นเป็น 70% ต่อจีดีพี ดังนั้นจะทำให้มีพื้นที่ก่อหนี้ได้อีก ไม่ถึง 10% แต่ทั้งหมดนี้ยังต้องขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย ถ้าปีนี้โต 3-4% ปีหน้าโต 4% เมื่อจีดีพีเพิ่ม สัดส่วนหนี้ฯ ก็จะลดลง” นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 65 รัฐได้ตั้งกู้ชดเชยการขาดดุล 7 แสนล้านบาท เนื่องจากรายจ่ายของรัฐบาลที่มากกว่ารายได้ และต้องตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลตั้งงบชำระหนี้มากขึ้น เพื่อให้เงินต้นลดลงมากขึ้น แม้ช่วงที่ผ่านมางบประมาณของรัฐบาลจะมีจำกัด แต่การคลังก็ได้เสนอขอไปยังสำนักงบประมาณแล้ว และยืนยันโดยตลอดว่ารัฐบาลจะต้อชำระหนี้เงินต้นต่อปีเท่าไหร่ ซึ่งในปีงบฯ 65 ต้องชำระเงินต้นอย่างน้อย 1 แสนล้านบาท