รมว.คลัง เอเชีย – ยุโรป รับห่วงสถานการณ์โควิดระลอก 2

638
0
Share:

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Finance Ministers’ Meeting: ASEM FinMM) หรืออาเซมครั้งที่ 14 ในรูปแบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2563 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซม ทั้งจากยุโรป และเอเชีย รวม 43 ประเทศ รวมถึงผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป สำนักเลขาธิการอาเซียน ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ มูลนิธิเอเชีย-ยุโรป และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 เข้าร่วมการประชุม
.
โดยหัวข้อหลักที่ใช้ในการหารือคือการสร้างความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งยั่งยืนทั่วถึงและสมดุลจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

1) การระบาดของCOVID-19นำมาซึ่งความท้าทายที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ต่อนานาประเทศทั่วโลก ทั้งยังได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจ้างงาน รายได้ การประกอบธุรกิจ การลงทุน การค้า และวิถีการดำรงชีวิตประจำวันโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางรวมไปถึงผลกระทบต่อความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่ประชุมได้แสดงความกังวลถึงผลกระทบที่เกิดจากการระบาดระลอก 2 ที่มีต่อประเทศสมาชิก
.
นอกจากนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 1 ล้านคน และได้มีข้อเสนอแนะในการให้ความสำคัญกับการนำระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมาปรับใช้ และพัฒนาขีดความสามารถของแต่ละประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งการให้ความสำคัญกับความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อก้าวข้ามวิกฤตทางเศรษฐกิจจาก โควิด-19 โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
.
2. การประชุม ASEM FinMM ในครั้งนี้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือและการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 โดยในส่วนของประเทศไทย การออกมาตรการการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น อาทิ เงินช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์แก่บริษัทและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ
.
ทั้งนี้ จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ของประเทศสมาชิกแสดงให้เห็นว่า การบรรเทาผลกระทบจากCOVID-19 ทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม การควบคุมและป้องกันการระบาด การประคับประคองผู้ประกอบการและธุรกิจ และการคิดค้นและแสวงหาแนวทางการรับมือโควิด-19 ที่ยั่งยืนล้วนเป็นประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญ และเอเซมยังคงเชื่อมั่นในการสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งและความเข้าใจอันดีระหว่างกันของ 2 ภูมิภาค โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศสมาชิกล้วนประสบกับความยากลำบากและความท้าทายอันเกิดจากโควิด-19
.