รมว.พลังงานยันสำรองไฟฟ้าล้นแค่ระยะสั้น พร้อมสั่งลดการผลิตโรงไฟฟ้าชุมชน – เร่งปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่า

1615
0
Share:

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่ม ปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ได้แสดงความกังวลถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงถึง 50% และเสนอให้ยุติโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนว่า การสำรองไฟฟ้าที่สูงที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
.
อย่างไรก็ตามคาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวและทำให้การใช้ไฟฟ้าจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมได้ โดยระยะสั้น กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการลดปริมาณไฟฟ้า คือ ลดปริมาณไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เหลือแค่ 100-150 เมกะวัตต์จากเดิมได้กำหนดไว้เฟสแรก 700 เมกะวัตต์ภายในปี 2563-2564 เพื่อไม่ให้กระทบค่าไฟประชาชน รวมถึงให้ กฟผ. ปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่า ที่มีประสิทธิภาพต่ำและจะหมดสัญญาซื้อขายไฟ เพื่อลดปริมาณสำรองไฟลง
.
โดยในระยะยาวจะต้องคำนึงถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นด้วย ทั้งระบบขนส่งที่ไทยจะมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น 13 สาย ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคตที่จะต้องนำมาเป็นองค์ประกอบด้วย
.
ส่วนความกังวลที่การสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มสูงจะมีผลต่อค่าไฟฟ้าที่สะท้อนไปยังผู้บริโภคนั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่ชัดเจนในการลดปริมาณไฟฟ้าดังกล่าว
.
ขณะที่ข้อเสนอให้เจรจาเอกชนชะลอโครงการที่กำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกองที่เพิ่งเซ็นสัญญา ยืนยันว่า ไม่อยากให้กังวลมากเกินไป เพราะโรงไฟฟ้าจะเสร็จก็อีกหลายปี
.
กรณีที่มองว่าค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากสำรองที่สูงนั้นหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้วไทยเองมีอัตราค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้แพงกว่าแต่อย่างใด แต่หากหาแนวทางลดได้ก็เป็นเรื่องที่ดีซึ่งกำลังพิจารณาอยู่
.
รายงานข่าวจากกฟผ.แจ้งว่า โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ปัจจุบันไม่ได้ถูกสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เพราะเป็นโรงเก่ามีประสิทธิภาพต่ำ และจะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประมาณปี 2564-2568 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าเอกชน 1-2 แห่ง เช่น โรงไฟฟ้าบางยูนิตของโรงไฟฟ้าราชบุรี, โรงไฟฟ้าของ กฟผ. 1-2 แห่ง เช่น บางยูนิตของโรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้ปัจจุบันได้เฉพาะค่าความพร้อมจ่าย (AP) เท่านั้น โดยหากเจรจากับภาคเอกชนเพื่อปลดระวางโรงไฟฟ้าเร็วขึ้นก็จะสามารถลดสำรองไฟฟ้าที่จะไม่เป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณหมื่นล้านบาท