รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์เสนอ 3 มาตรการคุมไวรัสโควิด 19

964
0
Share:

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อโควิด 19 ว่า “วันนี้ชื่นใจ” เลขออกมาน้อยกว่าวันก่อน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 45 คน รวมแล้วเรามีเคสติดเชื้อทั้งสิ้น 2,518 คน
.
ที่น่าเสียใจคือ มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่ม 2 คน ผ่านมาหลายต่อหลายวัน ยังไม่มีวันไหนที่ไม่มี สถิติวันนี้ เคสใหม่ส่วนใหญ่มาจากการไปสัมผัสติดต่อกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคโควิด -19 มาก่อน
.
สถิติวันนี้ เคสใหม่ส่วนใหญ่มาจากการไปสัมผัสติดต่อกับผู้ที่ป่วยเป็นโรค COVID-19 มาก่อน นี่เป็นสาเหตุหลัก ที่เราจำเป็นจะต้องมีมาตรการรณรงค์ให้คนที่มีประวัติเสี่ยง และ/หรือมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปตรวจ และหากเป็น จะได้รักษาได้ทันท่วงที พร้อมกับกักตัวเองในสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีโอกาสแพร่ไปให้ผู้อื่น
.
ดังนั้นสิ่งที่ต้องช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกจังหวัด ทำในระยะเวลา 1 เดือนถัดจากนี้ มีดังนี้
.
1. แจกจ่ายหน้ากาก และเจลแอลกอฮอล์ ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง

2. ประกาศนโยบาย “ออกจากบ้านต้องใส่หน้ากากทุกคน” ควรเตือน…ปรับ…จับ หากคนออกจากบ้านแล้วไม่ใส่หน้ากาก
.
3. ประกาศนโยบาย “ทุกกิจการต้องมีเจลแอลกอฮอล์ให้คนทำงานและคนมาใช้บริการ” ควรเตือน…ปรับ…จับ…ปิด หากไม่จัดการให้มีตามนโยบาย
.
ซึ่งก่อนหน้านี้รศ.นพ.ธีระระบุว่า ตอนนี้ไทยเราเริ่มคุมสถานการณ์โดยรวมได้ดี แต่จะกดให้ต่ำกว่านี้ต้องมุ่งเป้าที่กลุ่มไข่แดงที่เข้าถึงยาก หรือปรับพฤติกรรมยาก
.
ได้แก่ กลุ่มคนยากจน กลุ่มคนด้อยโอกาส ชุมชนแออัด กลุ่มอาชีพที่ยังทำงานและติดต่อผู้คนจำนวนมากในแต่ละวัน กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อผ่านกิจกรรมทางศาสนา/วัฒนธรรม/ยาเสพติด/การพนัน รวมถึงกลุ่มคนที่เดินทางจากต่างประเทศ
.
กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ต้องการมาตรการเพิ่มเติมทั้งบู๊และบุ๋น ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายให้เคร่งครัดเข้มงวด และการจัดระบบบริการเชิงรุกถึงพวกเค้า ทั้งการป้องกัน การให้ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ การจัดบริการตรวจคัดกรอง และการส่งต่อเคสเข้าสู่ระบบบริการดูแลรักษา และการติดตามผลหลังกลับบ้านไปแยกตัวสังเกตอาการจนหายดี
.
จากการคาดการณ์ เราจะจบเมษายนด้วยตัวเลขประมาณ 3,625 คน และปลายพฤษภาคมด้วยตัวเลขเกือบ 5,100 คน
.
แต่หลังจากพฤษภาคมเป็นต้นไป รัฐบาลอาจจำเป็นต้องผ่อนปรนมาตรการในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเริ่มประกอบสัมมาอาชีพได้มากขึ้น
.
ดังนั้นเหลือเวลาอีกเพียงประมาณ 1 เดือนที่เราจะต้องขบคิด วางแผนเพื่อจัดระบบควบคุมป้องกันและดูแลรักษาโรคให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ตรงกับจริตการใช้ชีวิตของเขา และร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่จะสามารถอยู่กับโรคระบาดไปได้อย่างมีสติ จนกว่ามันจะค่อยๆ หายไป ซึ่งอาจใช้เวลาอีกราว 6-9 เดือนครับ
.