รองนายกฯ ‘อนุทิน’ ชี้หากสถานการณ์โควิดในไทยดีขึ้นจะชงผ่อนคลายมาตรการ

355
0
Share:
อนุทิน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 และมาตรการของ สธ.

ซึ่งตั้งแต่ปีใหม่จนถึงวันนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มขึ้น มีสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาระบาดในประเทศ แต่เรามีความพร้อมเรื่องการรักษาพยาบาลและการดูแลผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตแต่ละวันอยู่ในช่วงขาลง ไม่เกิน 20 รายมาระยะหนึ่ง ทำให้มั่นใจได้ว่าเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนติดได้ง่าย แต่รุนแรงไม่เท่าเดลตา จึงเป็นประโยชน์มากที่ สธ.จะมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิต

ในฐานะรัฐบาล ภาคนโยบาย ขอยืนยันว่าผมและนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีพร้อมสนับสนุนข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่เสนอโดยคณะแพทย์ สธ. สถาบันด้านการแพทย์ต่างๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้มีมาตรการที่ประชาชนใช้ชีวิตปกติสุขมากที่สุด และภาคนโยบายและภาคปฏิบัติก็เห็นตรงกันว่า เมื่อสถานการณ์แนวโน้มดีขึ้น สธ.จะเร่งเสนอ ศบค.ผ่อนคลายมาตรการให้มากที่สุด และเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่หากมีเหตุสุ่มเสี่ยงต่อประชาชน สธ.พร้อมเร่งชี้แจง และเสนอมีมาตรการเพื่อย้ำเน้นความปลอดภัยประชาชนเป็นหลัก

ทางด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า วันนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อในประเทศ 7,916 ราย มาจากต่างประเทศ 242 ราย ผู้เสียชีวิต 15 ราย โดยเป็นกลุ่ม 608 ถึง 13 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 510 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 105 ราย ถือว่าลดลง ทั้งนี้คาดการณ์ว่าจะมีการระบาดของโควิดหลังปีใหม่ เนื่องจากการเดินทางและสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งพบว่าการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ขณะนี้ผ่านมา 14 วัน เริ่มทรงตัว และอาจลดลงได้

ช่วงแรกของเดือน ม.ค.2565 การระบาดค่อนข้างรวดเร็ว ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่หลังมีมาตรการประชาชนร่วมมือดีทุกภาคส่วน ระมัดระวังมากขึ้น การแพร่ระบาดก็ค่อนข้างคงที่และลดลงบางวัน จนขณะนี้ลงมาแตะเส้นสีแดงคือระดับปานกลาง แต่ถ้าทรงตัวอย่างนี้ก็จะลดลงมาอยู่ในเส้นสีเขียว และพยายามทำให้สถานการณ์ต่ำกว่าเส้นสีเขียว ส่วนอัตราเสียชีวิตยังต่ำกว่าสีเขียว เป็นผลจากโรครุนแรงน้อยลง ภูมิต้านทานประชาชนดีขึ้น

สำหรับมาตรการรับมือโอไมครอนมี 4 ด้าน คือ 1.มาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อชะลอการระบาด เนื่องจากติดเร็ว หากเร็วเกินไปอาจส่งผลต่อระบบสาธารณสุข แม้โรคจะไม่รุนแรง แต่ถ้าระบาดซ้ำ อาจเกิดการกลายพันธุ์ได้ แต่ที่ทำมาถือว่าชะลอระบาดได้ผลค่อนข้างดี และขอความร่วมมือฉีดวัคซีน คัดกรองตนเองด้วย ATK ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์

2.มาตรการการแพทย์ มีระบบสายด่วนประสานผู้ติดเชื้อ เน้นการดูแลที่บ้าน เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมากถึง 90% มียา มีการให้ข้อแนะนำดูแล และติดตามอาการทุกวัน หากอยู่ที่บ้านไม่ได้ก็จะให้ไปดูแลในชุมชน (CI) และถ้าอาการเพิ่มขึ้นสามารถติดต่อช่องทางด่วนเข้ารักษา รพ.ทันที

3.มาตรการทางสังคม ขอให้ร่วมมือป้องกันตนเองสูงสุด เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือประจำ สถานประกอบการใช้ COVID Free Setting ชะลอการเดินทาง

4.มาตรการสนับสนุน ให้ทำค่าบริการรักษาพยาบาล ค่าตรวจต่างๆ เหมาะสม