ระวังตัวไว้ก่อน! สธ. มีมติให้ ‘โรคฝีดาษลิง’ เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

425
0
Share:
โรคฝีดาษลิง

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากเมื่อวานนี้ ได้มีการหารือ คณะกรรมการวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีมติเห็นชอบให้จัดโรคฝีดาษลิง (monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และเป็นโรคระบาดนอกราชอาณาจักรและในบางประเทศที่มีการระบาดภายในประเทศแล้ว ยังไม่จัดเป็นโรคติดต่ออันตราย เนื่องจากเบื้องต้นยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศไทย

สำหรับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ปกติ ป่วยแล้วสามารถหายได้เอง มีบางรายที่มีอาการรุนแรง ซึ่งพบว่าความรุนแรงของโรค สัมพันธ์กับโรคเรื้อรัง เช่น ในคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อเข้ากระแสเลือด และการติดเชื้อที่กระจกตา อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น ข้อมูลจากการรายงานผู้ป่วยทั่วโลก ณ วันที่ 23 พ.ค.2565 พบว่า มีผู้ป่วย 123 คน เป็นชาย 122 คน หญิง 1 คน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-59 ปี โดย ฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์ คือ West African Clade และ Central African Clade โดยสายพันธุ์ที่เจอในผู้ป่วยทั่วโลก จากการตรวจ 9 คน พบเป็นสายพันธุ์ West African Clade มีอัตราป่วยตาย 1% ซึ่งอัตราป่วยตายต่ำกว่า สายพันธุ์ Central African Clade ที่มีอัตราป่วยตาย10%

สำหรับการฟักตัวของโรคมีประมาณ 5-21 วัน ป่วยน้อยสุด 5 วัน ป่วยมากสุด 21 วัน ซึ่งระยะของการป่วยแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 มีไข้ ปวดศีรษะ ,ช่วงที่ 2 ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว กล้ามเนื้อ และมีผื่นขึ้นทั้งตัวพร้อมๆกัน ออกผื่นหลังไข้ขึ้น เริ่มจากใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยเป็นตุ่ม น้ำใส จากนั้นเป็นหนอง และตุ่มน้ำดังกล่าว สามารถขึ้นได้ตามเนื้อเยื่ออ่อน เช่น อวัยวะเพศ ทวารหนัก และในช่องปาก แตกต่างจากสุกใส ที่ตุ่มจะทยอยขึ้น