รักเมืองไทย! เอกชนญี่ปุ่นชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแค่ชิวๆ ไม่ย้ายฐานจากไทย

271
0
Share:
รักเมืองไทย! เอกชน ญี่ปุ่น ชี้ขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ แค่ชิวๆ ไม่ย้ายฐานจากไทย

ประธานคณะวิจัยเศรษฐกิจหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) และประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (เจโทร) นายคุโรดะ จุน เปิดเผยผลสํารวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งแรกของปี 2566 โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำในอนาคตของประเทศไทย

นายคุโรดะ จุน กล่าวว่า ผลกระทบต่อกิจการเนื่องจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปี 2565 นั้น ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นตอบว่าได้รับผลกระทบเล็กน้อย 51% ตอบว่าไม่ได้รับผลกระทบ 32% และตอบว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก สัดส่วน 13% การรับมือจากการขึ้นค่าแรงปี 2565 ได้แก่ ไม่มีมาตรการ 49% ควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนอื่น 38% ความคุมค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน อาทิ ลดพนักงาน มี 16% และส่วนที่ตอบว่าจะย้ายไปฐานออกไปจากไทย หรือลดปริมาณในโรงงานที่ไทยนั้น แทบไม่มีเลย คิดเป็นสัดส่วน 0%

ปัญหาด้านบริหารองค์กรนั้น อันดับแรก คือ 63% มองว่าการแข่งขันกับบริษัทอื่นที่รุนแรง รองลงมา คือ 59% ราคาวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น อีก 45% มองว่า ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มสูงขึ้น มี 31% มองว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้น 30%

นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นสะท้อนข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยนั้น อันดับ 1 คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 34% การบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ 33% และกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยว ภาษีศุลกากรและพิธีศุลกากร 32%

ประธานคณะวิจัยเศรษฐกิจหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) และประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (เจโทร) กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้ ได้ทำขึ้นระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม 2 มิถุนายน 2566 พบว่า ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (ดีไอ) ในครึ่งปีแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566) อยู่ที่ -3 แสดงว่าผู้ประกอบการมองว่าสภาพธุรกิจปรับตัวแย่ลง ปรับลดลงจากการสำรวจครั้งที่แล้วในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ที่อยู่ระดับ 24

สาเหตุจากปัจจัยภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก และอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออกลดลงจากที่มีนโยบายการเงินแบบตึงตัว แม้ว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวก็ตาม ส่วนตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจของครึ่งหลังของปี 2566 (เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2566) ปรับตัวดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 26 เนื่องจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นผู้ตอบแบบสำรวจมีความหวังต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวขาเข้าและการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออก